แพทย์แนะป่วย ‘เบาหวาน’ เลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง ผลวิจัยชี้ ‘มะระขี้นก-เชียงดา-กะเพรา-ผักพื้นบ้าน’ ต้านโรค

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เพื่อให้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกได้เห็นความสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน แม้โรคเบาหวานจะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถยับยั้งการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ถ้าคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวได้ดี ผู้เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัวจนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย กินจุบจิบ แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือ ปลายเท้า สายตาผิดปกติ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง ถ้าปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน

นพ.บัญชา กล่าวว่า การควบคุมอาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญมาก ยาเบาหวานที่มีใช้กันโดยทั่วไป สามารถควบคุมน้ำตาลจากอาหารได้เพียง 45-60 กรัมต่อมื้อ เมื่อคิดเป็นข้าวสวยจะได้ไม่เกิน 3 – 4 ทัพพีเท่านั้น ขณะที่อาหารตามสั่งทั่วไปอาจให้ข้าวมากกว่า 4 ทัพพี ซึ่งมีน้ำตาลมากกว่าที่จะควบคุมได้ การเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง วุ้นเส้น ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสีจะมีใยอาหารช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง แต่ยังจำเป็นต้องควบคุมปริมาณเช่นเดียวกับข้าวขาว จึงไม่ควรนำธัญพืชมากินเพิ่มจากข้าว เช่น กินข้าวกับผัดฟักทอง หรือ ข้าวกับผัดวุ้นเส้น เป็นต้น

“นอกจากนี้ ควรงดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ผลไม้ควรเลือกชนิดที่ไม่หวานจัด เช่น กล้วย แอปเปิลเขียว หรือฝรั่ง และกินในปริมาณที่เหมาะสม นมจืดไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน เนื่องจากมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้วประมาณ 12 กรัมต่อแก้ว เช่นเดียวกับนมไขมันต่ำ พร่องมันเนย หรือนมไม่มีไขมัน กำจัดเฉพาะไขมันในนม แต่น้ำตาลไม่ได้ลดลง ส่วนนมเปรี้ยวไม่ควรกินทุกวันเพราะมีน้ำตาลสูง” นพ.บัญชา กล่าวและว่า การออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ สามารถลดปริมาณการใช้ยาหรือการฉีดอินซูลินได้ ควรออกกำลังกายที่ไม่มีแรงกระแทกหรือมีแรงกระแทกต่ำ เช่น เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เลือกความหนักของการออกกำลังกายที่เหมาะสม หากรู้สึกหายใจเร็วขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น แต่สามารถพูดคุยได้จนจบประโยคโดยไม่หอบขณะเดินหรือออกกำลังกายแบบอื่น แล้วมีอาการเหนื่อย ให้ลดความเร็วลงหรือหยุดพัก แล้วค่อยเดินต่อ ไม่ควรเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว ไม่ควรเดินเท้าเปล่า เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย หมั่นตรวจดูแลสุขภาพเท้าสม่ำเสมอ ไม่ให้เกิดแผล ไม่ควรออกกำลังกายในที่ร้อนจัดหรือชื้น ให้จิบน้ำเป็นระยะทุก 10 – 15 นาที ที่สำคัญควรระวังระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้เป็นเบาหวานที่ใช้ยาฉีดอินซูลิน ควรมีระดับน้ำตาลในช่วง 100 – 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง และผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปี

ด้าน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ โฆษกกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำสมุนไพรริมรั้วที่มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน คือ มะระขี้นก จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า มะระขี้นก มีสารรสขมชาแรนทิน (charantin) สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง โดยช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่เซลล์บริเวณผนังลำไส้เล็ก ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ และเสริมการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด เมนูอาหารที่แนะนำ เช่น ต้มจืดมะระขี้นก ยำมะระขี้นก มะระขี้นกผัดไข่ ฯลฯ เครื่องดื่ม คือ น้ำมะระขี้นกปั่น แต่ไม่ควรกินมะระขี้นกสุก

“ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มะระขี้นกจัดอยู่ในกลุ่มยาพัฒนาจากสมุนไพร นอกจากนี้ ยังมีผักพื้นบ้านชนิดอื่นที่ช่วยต้านเบาหวานได้ เช่น ผักเชียงดา กะเพรา ชะพลู ตำลึง ฯลฯ ซึ่งสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน หรือเป็นเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในครัวเรือน” นพ.ปราโมทย์ กล่าว