‘สมคิด’ หนุนรัฐ-เอกชนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์รับยุค AI

รองนายกฯ สมคิด ดึง “สรอ.” เร่งดันภาครัฐโอเพ่นดาต้า ใช้ข้อมูลอัพเกรดบริการสร้างธุรกิจใหม่ พร้อมเร่งคลอด กม.ลูก คุ้มครองข้อมูล หนุน “รัฐ-เอกชน” คลอดดาต้าเซ็นเตอร์ พร้อมย้ำ “ทีโอที-แคท” ต้องลุย 5G หากอยากอยู่รอดในอุตสาหกรรม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประกาศผลรางวัลโครงการประกวดนวัตกรรมข้อมูลเปิดภาครัฐ (Thailand Data Innovation Awards, DIA by DGA) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สรอ.) โดยระบุว่าการผลักดันให้กิดการใช้งานข้อมูลเปิดภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฐานข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ที่ภาครัฐ แต่ข้อมูลมากมายที่ผ่านมาไม่ได้ถูกนำไปใช้ ทั้งในแง่ของการเก็บ การวิเคราะห์

ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI กำลังมา ถ้าสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้มาด้วยกัน ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจด้านนโยบาย การพัฒนาบริการต่างๆ ของภาครัฐ ขณะที่ภาคเอกชนก็สามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ต่อยอดสู่บริการใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการลดต้นทุน ประสิทธิผลในเชิงการทำงานก็จะเพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากการต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ๆ นำไปสู่จีดีพีที่เพิ่มขึ้นของประเทศ

“ไทยเพิ่งเริ่มต้น สำคัญที่จะต้องปลดล็อกอุปสรรคด้านกฎหมายต่างๆ หน่วยงานไหนที่พร้อมก็เร่งผลักดันไปก่อน เป็นเรื่องปกติของสังคมที่ไม่เคยมีก็ต้องใช้เวลา แต่ต้องทำ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวกับการบริการประชาชน และเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การลงทุนต่างๆ ต้องเริ่มก่อน ไม่ว่าจะกระทรวงพาณิชย์ บีโอไอ ในหน่วยงานเหล่านี้ทาง สรอ. (สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล) จะต้องเดินเข้าไปหารือกับเขาเพื่อร่วมกันผลักดัน”

ในฝั่งของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายลูกและองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะต้องเร่งผลักดัน

ขณะเดียวกันการมีถังข้อมูลที่จะรองรับคือ คลาวด์ ดาต้า เซ็นเตอร์ ก็จะผลักดันให้มีในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่บีโอไอได้ส่งเสริมการลงทุน

“ต้องผลักดัน ไม่อย่างนั้นดาต้าก็จะไปอยู่ในประเทศอื่น เราทำได้ ภาครัฐอาจจะเริ่มก่อนแล้วก็มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมได้ พยายามทำให้โอเพ่นก่อน เพราะทุกอย่างได้ประโยชน์จริงๆ”

ในส่วนที่ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 5G นั้น รองนายรัฐมนตรีกล่าวว่า เมื่อทั้งสองหน่วยงานอยากจะประมูล เขาก็ต้องสู้ ถ้าต้องการจะอยู่ในธุรกิจนี้ แต่ไหวหรือไม่ก็ต้องถามทาง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ขณะที่การขยายโครงการ “ชิมช้อปใช้” สู่ เฟส 3 ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปูพื้นฐานให้คนในประเทศคุ้นเคยกับการใช้จ่ายผ่านดิจิทัล และเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายด้วย

“รัฐบาลให้คนนำไปใช้จ่าย เพราะไม่มีเงินในกระะเป๋า 1 ก็ไม่ใช้ในกระเป๋า 2 ตอนนี้ไม่ใช่คนไม่มีเงิน แต่เราต้องการให้ใช้ออกมาบ้าง ก็ต้องหาทางขยายจำนวนร้านค้าที่เข้ามาร่วมในโครงการมากขึ้น ซึ่งถ้ามีคนใช้จ่ายมากๆ อย่างไรร้านค้าก็ต้องเข้ามาร่วม ไม่อย่างนั้นจะตกขบวน และเมื่อเกิดการใช้งานมากๆ คนก็จะคุ้นเคยกับการใช้จ่ายผ่านทางอีวอลเล็ต สู่สังคมไร้เงินสดได้”