เสรีภาพโลกออนไลน์ปี 62 ทั่วโลกเผชิญภาวะตกต่ำ-บิดเบี้ยว

อินเทอร์เน็ตและโซเซียลมีเดียที่แพร่หลายในปัจจุบัน ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายดายมากขึ้น แต่ผลสำรวจล่าสุดพบว่า รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกมีการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในการบิดเบือนข้อมูล เพื่อประโยชน์ทางการเมืองแก่ตนเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสอดแนมพลเมืองและการปั่นกระแสเพื่อชนะการเลือกตั้ง สร้างความกังวลต่อเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตของบุคคลทั่วไป

“เอเอฟพี” นำเสนอรายงานประจำปี เรื่อง “เสรีภาพการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 2019” (Freedom on the Net 2019) ที่จัดทำโดย “ฟรีดอมเฮ้าส์” (Freedom House) องค์กรที่ติดตามสถานการณ์ด้านเสรีภาพทั่วโลก โดยใช้หลักการสำรวจ 3 ด้าน ได้แก่ อุปสรรคในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การจำกัดเนื้อหา และการละเมิดสิทธิของผู้ใช้งาน

รายงานระบุว่า เสรีภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วโลกลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 จากการสำรวจทั้งหมด 65 ประเทศ พบว่ามี 33 ประเทศที่เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตลดลง และมีเพียง 16 ประเทศที่มีเสรีภาพเพิ่มสูงขึ้น

สาเหตุหลักคือ การที่หลายประเทศปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อบริหารจัดการความมั่นคงภายใน โดยรายงานชี้ว่า มีอย่างน้อย 40 ประเทศที่มีหลักฐานว่า มีการใช้งาน “โปรแกรมสอดส่องสื่อโซเชียลมีเดียขั้นสูง”

นอกจากนี้ ยังมีหลายรัฐบาลที่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อและการบิดเบือนข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย “ไมค์ อับราโมวิตซ์” ประธานฟรีดอมเฮ้าส์ ระบุว่า รัฐบาลหลายประเทศตระหนักว่า การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการปิดกั้นแบบเดิม

“ผู้มีอำนาจและนักประชานิยมทั่วโลกกำลังใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียและอัลกอริทึมในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง โดยไม่สนใจหลักการความเสรีและเป็นธรรม” อับราโมวิตซ์กล่าว

รายงานระบุว่า มีประชาชนใน 47 ประเทศที่ถูกจับกุมและตั้งข้อหาจากโพสต์ข้อความทางการเมือง สังคม และศาสนา ในโลกออนไลน์ ในจำนวนนี้มี 31 ประเทศที่มีการลงโทษอย่างรุนแรง

โดยเฉพาะ “จีน” ที่ได้รับคะแนนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตเพียง 10 คะแนน (จาก 100 คะแนนเต็ม) ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ได้ 12 คะแนน นับว่ามีคะแนนต่ำมาอย่างต่อเนื่องโดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มความเข้มงวดในการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูล ช่วงที่มีการประท้วงในฮ่องกง และช่วงการครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน

สำหรับ “สหรัฐอเมริกา” มีคะแนนลดลงเช่นกัน จากปีที่ผ่านมา 78 คะแนน เหลือ 77 คะแนนในปีนี้ ฟรีดอมเฮ้าส์ ระบุว่า หน่วยงานของสหรัฐได้เพิ่มการสอดส่องและตรวจสอบผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของพลเมืองมากขึ้น รวมทั้งยังมีการกระจายข้อมูลที่ถูกบิดเบือนเพื่อประโยชน์ทางการเมืองสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือน พ.ย. 2018 โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศและต่างประเทศ

“อาเดรียน ชาห์บาส” ผู้อำนวยการวิจัยของฟรีดอมเฮ้าส์ระบุว่า หลายรัฐบาลพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในการจับจ้องและเซ็นเซอร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ อีกทั้งการกระจายตัวของเทคโนโลยีในปัจจุบันยังเป็นเครื่องมือสอดแนมที่สามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลในโซเชียลมีเดีย

รายงานยังระบุว่า มีอีกหลายประเทศที่เสรีภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตลดลงในปีนี้ เช่น บราซิล ลดลง 5 คะแนน อยู่ที่ 64 คะแนน, บังกลาเทศเหลือ 44 คะแนน ลดลงจากปีก่อน 5 คะแนน ส่วนอินโดนีเซียอยู่ที่ 51 คะแนน และฟิลิปปินส์ 66 คะแนน โดยทั้งสองมีคะแนนลดลงประเทศละ 3 คะแนน จากปีที่ผ่านมา

ขณะที่เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตของไทย แม้คะแนนจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2018 แต่ยังคงได้เพียง 35 คะแนน ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีเสรีภาพในอินเทอร์เน็ตตามการวิเคราะห์ของฟรีดอมเฮ้าส์ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิของผู้ใช้งานและการจำกัดเนื้อหาที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป และจากการบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงทางไซเบอร์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา