คลังหารือแบงก์ชาติใกล้ชิดดูแลบาทแข็ง -พร้อมออกมาตรการดูแลเพิ่ม

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง   เปิดเผยว่า สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบันมีสาเหตุหลักมาจาก ผู้ส่งออกของไทยสามารถส่งสินค้าและบริการออกไปขายในต่างประเทศมีมูลค่าสูงกว่าการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายปี ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติมีมุมมองที่ดีต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้มีเงินตราจากต่างประเทศไหลเข้ามาประเทศทั้งในรูปของการลงทุนในหลักทรัพย์ และการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง จึงส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

นายลวรณกล่าวว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมจะประสานความร่วมมือกับธปท.ในการออกมาตรการหรือนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อไป

นายลวรณกล่าวว่า สาระสำคัญของมาตรการกำลังมีผลบังคับใช้ประกอบด้วย 1. การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับเข้าประเทศ โดยการขยายวงเงินรายได้จากการส่งสินค้าออกที่ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ (Repatriation) จากเดิมที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา  เป็นที่มีมูลค่าต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ และผ่อนผันให้ผู้ที่มีรายได้จากการส่งสินค้าออกไม่ต้องนำเงินดังกล่าวกลับเข้าประเทศในกรณีนำไปหักกลบกับคู่ค้าในต่างประเทศ

นายลวรณกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมี 2. การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยอนุญาตให้สามารถโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้ต้องยื่นขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนอนุญาตให้สามารถโอนเงินไปซื้อ ซื้อสิทธิการเช่า หรือชำระค่าใช้จ่ายในการตกแต่งอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้ ทั้งกรณีถือกรรมสิทธิ์ด้วยตนเองและบุคคลในครอบครัว ในวงเงินไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3.การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยอนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยสามารถโอนเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้เองในวงเงินไม่เกินปีละ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ และการเพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้แก่นักลงทุนภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จากเดิม 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4. การผ่อนคลายการซื้อขายทองคำภายในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด