“พาณิชย์” มั่นใจไทยได้ประโยชน์จากข้อตกลงอาร์เซ็ปอื้อ

นางอรมณ ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (RCEP) ครั้งที่ 35 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งนี้ สามารถปิดการเจรจากับประเทศคู่ค้า 5 ประเทศได้สำเร็จ แม้อินเดียยังมีข้อกังวลในบางข้อบท จึงไม่ร่วมข้อตกลง แต่ไทยก็ได้เริ่มประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ที่อาจได้เปรียบจากข้อตกลงนี้ ด้วยการเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิก ในสาขาที่มีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจก่อสร้าง สุขภาพ ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิงต่าง ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการค้าสินค้าต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการทำเอฟทีเอกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป แต่ว่าการเปิดตลาดอาจจะยังมีไม่มากพอ ซึ่งอาร์เซ็ปจะเข้ามาช่วยทำให้ไทยได้รับประโยชน์มากขึ้น จากการที่สมาชิกอาร์เซ็ปเปิดตลาดมากกว่าเดิม โดยเฉพาะสินค้า เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์การเกษตร อาทิ มันสำปะหลัง อุปกรณ์ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์

“กรมเจรจาฯ ได้กำหนดแผนการทำงานเอาไว้แล้ว เพราะว่าความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 15 ประเทศที่จะเดินหน้าไปก่อน เป็นความตกลงที่มีขนาดใหญ่ ถือเป็นเอฟทีเอฉบับแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นการสร้างความเข้าใจกับประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 จะมีการจัดประชุมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อแจ้งเรื่องมติที่ประชุมของผู้นำอาร์เซ็ป และหารือในข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเจรจา และในด้านที่ 2 กรมเจรจาฯได้เตรียมที่จะจัดการสัมมนาใหญ่ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการเจรจาที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย”นางอรมณกล่าว

นางอรมณกล่าวว่า ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยเองต้องเร่งปรับตัวเช่นดัน เพราะยังมีความเสี่ยงที่ธุรกิจ สินค้าและบริการหลายประเภทจากประเทศสมาชิก หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขัน โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ิอาจจะใช้ไทยเป็นฐานการลงทุน เพื่อกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในอาเซียนมากขึ้น โดยการมีข้อตกลงอาร์เซ็ปขึ้น จะทำให้ช่วยสร้างแต้มต่อและลดความซับซ้อนในเรื่องกฎระเบียบการค้าต่างๆ รวมทั้งกฎถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงจะส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดมีกฎเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเรื่องห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการค้าสินค้าต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป แต่ว่าการเปิดตลาดอาจจะยังมีไม่มากพอ

นางอรมณกล่าวว่า กรอบข้อตกลงอาร์เซ็ปถือเป็นเอฟทีเอที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยหากมีอินเดียรวมเข้ามาด้วย ก็จะมีประชากรอยู่ที่ 3,500 ล้านคน แต่หากอินเดียยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมความตกลง ก็จะทำให้ 15 ประเทศสมาชิกรวมกันแล้วจะมีประชากรอยู่ที่ 2,200 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากรโลก ก็ยังถือว่าเป็นเอฟทีเอที่ใหญ่อยู่ดี มีจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 24.5 ล้านล้าน เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 28.96% ของจีดีพีโลก มีมูลค่าการค้ารวมการอยู่ที่ 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 27.22% ของมูลค่าการค้าโลก