‘พุทธิพงษ์’​ เร่งเสนอ ‘ครม.’ ควบรวม ‘ทีโอที-แคท’​ ภายใน พ.ย.นี้ หวังทันประมูลคลื่นรับ ‘5G’ ปีหน้า ​

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการควบรวมกิจการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือเอ็นที ว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 มีการประชุม​ร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที, กรรมการผู้จัดการใหญ่แคท, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแคท ซึ่งได้ข้อสรุป​ที่น่าพึ่งพอใจ เนื่องจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะสหภาพแรงงานมีความเข้าใจ​มากขึ้น และจากนี้ได้มอบหมายให้ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส รวบรวม​ข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี​เอส​อีกครั้ง และเสนอเข้าที่ประชุม​คณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ อย่างเร็วในเดือนพฤศจิกา​ยนนี้

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อผ่านการเห็นชอบจาก ครม. แล้ว จะทำให้กระบวนการควบรวมกิจการรวดเร็ว​ขึ้น โดยจะต้องมีการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.ด้านบุคลากร 2.ด้านการเงิน สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และ 3.ด้านสัญญาสัมปทาน เพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินงานภายหลังการควบรวมกิจการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 6-7 เดือนจึงจะได้ข้อสรุป

“หากสามารถนำเข้าที่ประชุม ครม. และข้อสรุปโดยเร็ว จะทำให้ทีโอทีและแคท มีโอกาสในเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ทั้งนี้ ต้องดูว่าจะสามารถควบรวมกิจการได้ทันหรือไม่ เพราะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งหากควบรวมกิจการไม่ทัน อาจให้ทั้ง 2 หน่วยงาน เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ในย่านที่ต่างกันก่อน และหลังจากควบรวมกิจการแล้วจึงนำคลื่นความถี่ มาให้บริการร่วมกัน” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการ​โทรคมนาคม มีมติเห็นชอบเรียกคืนคลื่นความถี่​ย่าน 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท ไทยคม​ จำกัด (มหาชน)​ และกระทรวง​ดีอีเอส มาประมูลล่วงหน้า ก่อนหมดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2564 นั้น ทางกระทรวง​ดีอี​เอส​ จะมีการหารือร่วมกับ กสทช. ในสัปดาห์​หน้า ซึ่งหาก กสทช. ยังยืนยันที่จะนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวออกมาประมูล จะต้องดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.การเยียวยาผู้ที่จะได้รับผลกระทบ และ 2.ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อไปใช้งานในคลื่นความถี่ย่าน 3700-4200 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเชื่อว่า จะอยู่ในงบประมาณที่สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ในระหว่างนี้ต้องดูภาพรวมด้วย

“หากสามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูลเพื่อรองรับ 5G ได้ทันตามกรอบเวลา เชื่อว่าจะมีประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะ​รัฐวิสาหกิจ​ ที่จะเข้ามามีส่วนในผลักดันการขับเคลื่อน 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายพุทธิพงษ์ กล่าว