APHR แถลงจี้ปล่อยตัว “มู ซกฮัว” ทันที ร้องชาติอาเซียนเคารพเสรีภาพพื้นฐานของชาวกัมพูชา

วันที่ 7 พฤศจิกยายน 2562 สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ “เอพีเอชอาร์” ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการมาเลเซียปล่อยตัวนางมู ซกฮัว รองหัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชาหรือ ซีเอ็นอาร์พี ทันที หลังจากที่นางซกฮัว ถูกหน่วยตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียควบคุมตัวในสนามบินนครกัวลาลัมเปอร์วันนี้ และเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอาเซียนเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองกัมพูชา

นายกษิต ภิรมย์ อดีตส.ส.ของไทยและกรรมการสมาชิกของเอพีเอชอาร์กล่าวว่า นางซกฮัว ควรถูกปล่อยตัวจากการคุมตัวทันทีและอนุญาตให้เธอดำเนินกิจกรรมเชิงสันติได้ การตัดสินใจคุมตัวนางซกฮัวถือเป็นการไม่ยึดมั่นต่อหลักการว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของอาเซียนอย่างสมบูรณ์ เราทุกคนต่างทราบว่าความพยายามใดที่ขัดขวางสมาชิกฝ่ายค้านกัมพูชาจากการเดินทางกลับกัมพูชา เป็นการทำบนพื้นฐานทางการเมืองและเป็นความพยายามที่ชัดเจนในการปิดกั้นเสียงของพวกเขา

แถลงของเอพีเอชอาร์ระบุว่า ทางการมาเลเซียควรอนุญาตการเข้าถึงให้เจ้าหน้าที่อิสระในการพบนางซกฮัวและ 2 นักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาที่ถูกควบคุมตัวและทำความชัดเจนว่าใช้กฎหมายใดในการควบคุมตัวทั้ง 3 คน

นายกษิต กล่าวอีกว่า ถือเป็นเรื่องอุกฉกรรจ์ที่มาเลเซียและชาติสมาชิกอาเซียนที่กระทำตามคำขออันสกปรกของกัมพูชาที่หวาดกลัวฝ่ายค้านที่มีความชอบธรรม ชาติสมาชิกอาเซียนไม่ควรทำตามคำสั่งรัฐบาลสมเด็จฯฮุน เซนที่เป็นเผด็จการและละเมิดสิทธิเสรีภาพของกัมพูชา

ด้านนายวัลเดน เบลโล่ อดีตส.ส.กัมพูชาและกรรมาการสมาชิกเอพีเอชอาร์ระบุว่า สมเด็จฯฮุน เซน นั้นกลัวจะสูญเสียอำนาจจึงได้กระทำฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่ลดละและเป็นระบบ การกวาดล้างผู้เห็นต่างขนานใหญ่และปฏิเสธที่จะปล่อยให้ผู้นำฝ่ายค้านกลับประเทศนั้น ควรปลุกประชาคมระหว่างประเทศให้รู้ว่ากัมพูชาอยู่ในวิกฤตประชาธิปไตยแล้ว

ขณะที่ นายชาร์ลส ซานติเอโก้ ส.ส.มาเลเซียและกรรมการสมาชิกของเอพีเอชอาร์กล่าวว่า การปราศจากฝ่ายค้านที่เข้มแข็งหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานวิพากษ์วิจารณ์การบริหารและนโยบายของฮุน เซน ได้อย่างอิสระและเปิดกว้าง ก็จะไม่มีใครคอยตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ไม่มีใครควรหลอกตัวเองว่า กัมพูชาตอนนี้ ไม่ต่างไรกับประเทศเผด็จการเต็มรูปแบบ ไม่มีอะไรในโครงสร้างหน้าที่ของประเทศที่ยังคงความเป็นประชาธิปไตยได้

ทั้งนี้ แถลงการณ์ตอนท้ายระบุว่า ประชาคมระหว่างประเทศรวมถึงเพื่อนบ้านอาเซียนของกัมพูชามีความรับผิดชอบเพื่อให้แน่ใจว่าเสียงฝ่ายค้านในกัมพูชามีอิสระในการใช้สิทธิมนุษยชนโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตอบโต้

อ่านแถลงการณ์ทั้งหมดได้ ที่นี่