กกร. เผยปัจจัยเสี่ยงรุมล้อม เตรียมเสนอตั้งทีมพิเศษรับมือภาวะเศรษฐกิจ-บาทแข็ง

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจไว้ทั้งปี 2562 อยู่ที่ 2.7-3.0% การส่งออกทั้งปีอยู่ที่ ติดลบ 2-0% ขณะที่กรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.8-1.2% จากหลายปัจจัยที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบ อาทิ ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สงครามการค้า เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้ ที่ประชุมเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งรัดและหามาตรการช่วยเหลือ

นายกลินท์​ กล่าวต่อว่า ภาครัฐควรเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีการตัดสิทธิจีเอสพี และควรจะต้องมีประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องประสานงานต่อกระทรวงแรงงาน พร้อมจัดทำการเตือนภัย​ล่วงหน้า สำหรับสินค้าที่อาจถูกตัดสิทธิ และนำประเด็นนี้เข้าหารือในการประชุม กรอ. (พาณิชย์) และสมาคมการค้าสหรัฐฯ ต่อไป นอกจากนี้ ทางภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนโดยให้การสนับสนุนในการพัฒนายกระดับคุณภาพสินค้าและการเจาะตลาดใหม่ๆ พร้อมทั้งดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้แข่งขันได้ยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยยังสามาถแข่งขันและผลักดันการส่งออกไปได้

นอกจากนี้ กรณีผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ที่ประชุม กกร. เห็นว่า ภาคเอกชนควรจะแสดงท่าทีที่ชัดเจนไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีมาตรการลดผลกระทบเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว ซึ่งอาจจะยังส่งผลกระทบมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปใน 2563 โดยคงจำเป็นต้องมีการทบทวนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเพิ่มระยะเวลาการพักเงินรายได้จากการส่งออกในรูปเงินตราต่างประเทศ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออกเร็วขึ้น เป็นต้น รวมไปถึงการผลักดันให้โครงสร้างการส่งออกมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ในระยะสั้น กกร. เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระหว่าง กกร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ และกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันหาแนวทางดำเนินการต่อไป

สำหรับในระยะกลางและระยะยาว ภาคเอกชนจะเร่งการพัฒนาด้านต้นทุนและราคา โดยต้องพัฒนานวัตกรรมและสินค้าใหม่ๆ ออกมาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าไทยให้มีศักยภาพ ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ทั้งจากทิศทางเศรษฐกิจหลักในโลกที่ชะลอลง ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมถึงเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะยังคงสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ประกอบกับ สถานการณ์คำสั่งซื้อจากการส่งออกที่ชะลอลง หากยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจสร้างผลกระทบต่อประเด็นการจ้างงานและกำลังซื้อภายในประเทศเป็นวงกว้างมากขึ้นในอนาคต