คลังหวั่นลดภาษีบุคคลธรรมดา10% ตามนโยบายหาเสียงพรรคพลังประชารัฐทำรัฐสูญรายได้ 7 หมื่นล.

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปภาษีที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ตามนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าพรรค โดยพบว่าหากจะลดภาษีให้ 10% ลงแบบถ้วนหน้าตามนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ ส่งผลให้รายได้รัฐหายไป 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ข้าราชการกระทรวงการคลังไม่สามารถยอมรับได้ เพราะจะกระทบต่อการจัดทำงบประมาณ และการใช้จ่ายภาครัฐ หากไม่สามารถหารายได้อื่นมาทดแทนได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นฐานรายได้หลักของกรมสรรพากร พอๆ กับรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพากร กังวลต่อการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามนโยบายของพรรคพลังประชารัฐพอสมควร เนื่องจากกระทบต่อการจัดเก็บราไยด้สูงมาก ซึ่งกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้หลักของรัฐบาลมีสัดส่วน 70 –80% ของรัฐบาลทั้งหมด

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ทั้งนี้แนวทางในการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลัง เสนอให้เกลี่ยผลประโยชน์จากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปที่คนชั้นกลางและคนรายได้น้อยที่อยู่ในฐานภาษี ขณะที่คนรายได้สูงที่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุด 35 % ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยแต่เมื่อคิดเป็นจำนวนเม็ดภาษีสูงนั้น อาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ สำหรับวิธีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจมีทั้งการขยายช่วงของเงินได้ และการปรับลดอัตราภาษี

“ขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อปรับปรุงค่าลดหย่อนและยกเว้นทางภาษีทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมาก พบว่าเงินลดหย่อนยกเว้นทั้งหมดทุกรายการรวมเป็นวงเงินสูงสุดที่ 2 ล้านบาท ซึ่งคนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากค่าหย่อนคือคนรวย 20 % แรกของประเทศ ซึ่งการปรับปรุงของกรมสรรพากรนั้น จะพิจารณาว่าค่าลดหย่อนใดที่ยังจำเป็นและค่าลดหย่อนใดที่ไม่มีความจำเป็นแล้วก็อาจจะตัดออกไปหรือค่าลดหย่อนบางรายการอาจปรับวงเงินลดหย่อนให้น้อยลง”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีบุคคลธรรมดายื่นแบบแสดงรายการภาษีกว่า 11 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้มีคนเสียภาษีเพียง 4 ล้านคน ที่เหลือ 7 ล้านคน รายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ ที่ต้องเสียภาษี คือมีรายได้ไม่เกิน 26,583.33 บาท/เดือน ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพากร กำหนดให้มีค่าลดหย่อนจำนวนมากกว่า 20 รายการ เช่น การให้ค่าลดหย่อนส่วนตัว คนละ 6 หมื่นบาท,ค่าลดหย่อนบุตรคนละ 3 หมื่นบาท,ค่าลดหย่อนพ่อแม้ คนละ 3 หมื่นบาท,ค่าลดหย่อนคนพิการ คนละ 6 หมื่นบาท,เบี้ยประกันชีวิต ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี,เงินลงทุนในแอลทีเอฟ คนละ 15 % ของเงินได้แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท,อาร์เอ็มเอฟ คนละ 15 % ของเงินได้แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท,ดอกเบี้ยจากเงินกู้บ้าน ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี