ส่งท้ายไทยประธานอาเซียน ปิดฉากอาร์เซ็ป 15+1 อินเดียขอเจรจาต่อ

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน​ 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วน​เศรษฐกิจ​ระดับภูมิภาค​ (อาร์เซ็ป)​ ครั้งที่ 3 ว่า การประชุมครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุมอาร์เซ็ป ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ไทยได้ทำงานร่วมกับสมาชิกอาร์เซ็ปอีก 15 ประเทศ อย่างหนักและผลักดันให้การเจรจาคืบหน้าจนในวันนี้ (4 พฤศจิกายน 2562)​ ผู้นำสามารถร่วมประกาศความสำเร็จสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดได้ตามเป้าที่ผู้นำอาร์เซ็ปตั้งไว้

“ในการประชุมผู้นำอาร์เซ็ปครั้งนี้ ผู้นำได้ร่วมออกแถลงการณ์โดยระบุว่า สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศสามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ ซึ่งสมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปในปีนี้ ไทยได้แสดงบทบาทนำอย่างต่อเนื่องใน การเป็นตัวกลางประสานระหว่างประเทศ จากเมื่อต้นปีสำเร็จแค่ 7 บทจาก 20 บท เมื่อไทยรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนได้มีการเร่งขับเคลื่อนการเจรจาให้จบในปีนี้สำเร็จได้เพิ่มอีก 13 บท ทำให้จบทั้ง 20 บทได้ในปีที่ไทยเป็นประธาน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและการสนับสนุนจากสมาชิกอื่นมาตลอดทั้งปี ซึ่งหากความตกลงอาร์เซปมีผลบังคับใช้จะถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน อีกทั้งจะมีความทันสมัยที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้ายุคใหม่ทั้งเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการแข่งขัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)​ ให้สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคได้ ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะเดียวกันก็จะรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)​

นายจุรินทร์​ กล่าวต่อว่า เมื่อปี 2558 พบว่า ผลของการเจรจาอาร์เซ็ปจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยและประเทศคู่เจรจาขยายตัว โดยผลผลิตมวลรวมของไทย (จีดีพี)​ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมสูงถึง 3.995% โดยปริมาณการบริโภคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.746% ปริมาณการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.934% ปริมาณการบริโภคภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.368% ปริมาณการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.355% และปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.932%

นอกจากนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศรวมทั้งไทย และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่าจีดีพีกว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 32.3% ของจีดีพีโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก

นายจุรินทร์​ กล่าวต่อว่า ในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 59.8% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยสร้างโอกาสการส่งออกของไทยในตลาดใหม่ๆ ที่การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี​ (เอฟทีเอ)​ ระหว่างไทย อาเซียน และสมาชิกอาร์เซ็ป ในช่วงที่ผ่านมายังเปิดตลาดไม่มากพอ โดยสินค้าที่สมาชิกอาร์เซ็ปเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทย เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และยางล้อ เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปกว่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 58.8% ของการส่งออกของไทยไปทั่วโลก