หยุดยาวดันยอดชิมช้อปใช้ทะลุหมื่นล้าน เงินถึงฐานราก ยังไม่ชัวร์เฟส3

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดยาว 2-5 พฤศจิกายน 2562 เป็นระยะเวลา 4 วันติดต่อกันสำหรับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปัญหาการจราจร รองรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน คาดว่าพี่น้องประชาชนให้การตอบรับการรณรงค์ท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นอย่างดี น่าทำให้ ยอดการจับจ่ายใช้สอยผ่านกระ เป๋าตัง 1 และกระเป๋าตัง 2 ดีเกินคาดทำให้เม็ดเงินทยอยไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากล่าสุดทะลุ 1 หมื่นล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้“จากการลงพื้นที่ติดตามผลอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่พบว่า ร้านค้ารายย่อยและวิสาหกิจชุมชนสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างน้อย 30% และบางพื้นที่ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 100% แสดงว่าเงินสามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ก่อให้เกิดการหมุนเวียน และกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง” นายชาญกฤชกล่าว

แหล่งข่าวจากระทรวงการคลังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องชิมช้อปใช้เฟส 3 โดยล่าสุดการใช้จ่ายเงินถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน มียอดการใช้จ่ายรวม 1.06 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ร้านชิม 1.46 พันล้านบาท ร้านช้อป 6.17 พันล้านบาท ร้านใช้ 141 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป 2.89 พันล้านบาท เป็นการใช้จ่ายส่วนในกระเป๋า 2 ที่ประชาชนต้องควักจ่ายเพิ่มมียอดเพียง 473 ล้านบาท

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรณีที่ร้านค้าที่ร่วมโครงการชิมช้อปใช้ไม่ยอมรับชำระเงินผ่านกระเป๋า 2 เพราะกังวลว่า สรรพากรจะเข้าตรวจสอบภาษี ซึ่งขอยืนยันว่า กรมฯไม่มีนโยบายที่จะเข้าไปใช้ฐานข้อมูลชิมช้อปใช้เพื่อตรวจสอบภาษี โดยมอบหมายให้สรรพากรพื้นที่ไปประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าต่างๆได้รับทราบ และ ให้แจ้งด้วยว่า หากร้านค้าใดยังใช้ระบบการชำระเงินแบบเงินสด จะถือว่าอยู่ในข่ายที่ต้องมีการตรวจสอบมากขึ้น

“ต้องเรียนว่า กรมมีข้อมูลในการจัดเก็บภาษีที่มากพอ ดังนั้น จึงขอให้สบายใจว่า จะไม่นำข้อมูลของการร่วมโครงการชิมช้อปใช้ไปตรวจสอบภาษี แต่ถ้ามีรายได้เป็นเรื่องปกติที่จะต้องถูกนำมาคำนวณภาษี”นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า ส่วนรายที่กังวลเรื่องจำนวนครั้งในการรับชำระเงินผ่านระบบแบงก์จะต้องถูกรายงานต่อกรมฯตามกฎหมายอีเพย์เมนท์ นั้น ขณะนี้ กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องรอแนวปฏิบัติต้องผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ดังนั้น การชำระเงินในโครงการชิมช้อปใช้จึงยังไม่ต้องถูกรายงานตามกฎหมาย โดย กฎหมายดังกล่าวจะมีข้อยกเว้นสำหรับธุรกรรมที่ถูกใช้ไปเพื่อการบริจาคที่ไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นรายได้ เช่น บุคคลหนึ่งรับบริจาคเงินเพื่อกฐิน กรมฯก็จะมีฐานข้อมูลที่ทำให้รู้ว่า เงินที่ได้รับโอนมา ไม่ใช่รายได้ที่แท้จริง จึงไม่ถูกนำมาคำนวณภาษี