ลุ้น 18 พ.ย.ตัดสินคิงส์เกตฟ้องไทย | แบงก์รัฐล้างหนี้นอกระบบ 2.7 หมื่นล้าน | มาตรการรัฐหนุนอสังหาฯคึกคัก

แฟ้มข่าว

แบงก์รัฐล้างหนี้นอกระบบ 2.7 หมื่นล้าน

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า มีจำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2562 จำนวนทั้งสิ้น 1,213 ราย ใน 76 จังหวัด แต่มีผู้คืนคำขออนุญาตจำนวน 125 ราย ใน 51 จังหวัด จึงเหลือยื่นคำขอ 1,088 ราย ใน 75 จังหวัด มีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว 710 ราย ใน 72 จังหวัด โดยปล่อยสินเชื่อแล้วจำนวน 555 ราย ใน 67 จังหวัด สำหรับสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อดังกล่าวให้ประชาชนทดแทนการเป็นหนี้นอกระบบในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จนถึงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาจำนวน 622,063 ราย เป็นเงิน 27,357.27 ล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 576,434 ราย เป็นเงิน 25,389.49 ล้านบาท และผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 จำนวน 45,629 ราย เป็นเงิน 1,967.78 ล้านบาท

มาตรการรัฐหนุนอสังหาฯคึกคัก

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า คาดว่าตลาดอสังหาฯปี 2563 จะพลิกกลับมาเป็นบวก 5-10% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 5-7% ผลจากรัฐบาลออกมาตรการช่วยภาคอสังหาฯ ทั้งลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเหลือ 0.01% และยังมีมาตรการสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาทของ ธอส. สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 2.5% ใน 3 ปีแรก ช่วยทำให้อสังหาฯที่รอขายในปีนี้ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จำนวน 1.4 แสนหน่วย และปีหน้าระดับราคาเดียวกันอีก 4 หมื่นหน่วย รวม 1.8 แสนยูนิตได้รับอานิสงส์

“ในปีหน้าคาดว่าผู้ประกอบการจะเน้นสร้างทาวน์เฮาส์มากขึ้นเพื่อรองรับมาตรการของรัฐบาล เพราะใช้เวลาก่อสร้างเพียง 6 เดือน แทนการสร้างคอนโดมิเนียมที่ใช้เวลานานกว่า” นายวิชัยกล่าว

ธรรมนัส ดึง ซีพี อุ้มข้าวหอม

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายข้าวหอมมะลิระหว่างสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่จังหวัดพะเยา กับบริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด ว่า กระทรวงเกษตรฯร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรภายใต้พะเยาโมเดล โดยให้ซีพีรับซื้อข้าวหอมมะลิ ความชื้น 15% ในราคาที่ 18,000 บาทต่อตัน จำนวน 40,000 ตัน จากชาวนาในจังหวัดพะเยา ซึ่งสูงกว่าราคาประกันข้าวหอมมะลิของรัฐบาล 3,000 บาทต่อตัน หรือราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิต 5,000-6,000 บาทต่อตัน

“ไลน์ทีวี” ขยายฐานคนดูเด็ก-วัยผู้ใหญ่

นายกณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไลน์ ทีวี มีคอนเทนต์รวมกว่า 1,000 คอนเทนต์ โดยยอดวิวที่เติบโตขึ้นมาจากคอนเทนต์ละคร ซีรี่ส์ต่างๆ เป็นหลัก ทั้งนี้ ยอดวิวเฉลี่ยสำหรับละครท็อปฟอร์มจะอยู่ที่ 250 ล้านวิว หรือรายการบันเทิงวาไรตี้ต่างๆ ที่มีผู้ชมรองลงมาจะมียอดวิวเฉลี่ย 70 ล้านวิว ปัจจัยที่จะทำให้ ไลน์ ทีวี ขยายฐานผู้ชมได้เร็วขึ้นคือการพัฒนารอบด้าน ทั้งความหลากหลายของคอนเทนต์ ควบคู่กับการพัฒนาฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ชม การพัฒนาระบบการค้นหาคอนเทนต์ง่ายและรวดเร็วขึ้น ไลน์ ทีวี ได้แบ่งฐานผู้ชมเพื่อเสนอคอนเทนต์ที่เหมาะสม แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ วัยรุ่นและวัยเรียน อายุ 14-25 ปี กลุ่มวัยทำงาน อายุ 21-34 ปี กลุ่มครอบคลุมช่วงอายุ 14-34 ปี และกลุ่มใหญ่สุด ครอบคลุมอายุ 14-45 ปี

ลุ้น 18 พ.ย.ตัดสินคิงส์เกตฟ้องไทย

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ฟ้องร้องรัฐบาลไทย หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร จนทำให้ไทยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการว่า วันที่ 18 พฤศจิกายน ไทยจะเข้าสู่กระบวนการเบิกความต่อหน้าคณะอนุญาโตตุลาการ ที่สำนักงานต่างประเทศ (ฮ่องกง) ซึ่งขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลการพิจารณาในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ

ออกบอนด์เพศสภาพชูธุรกิจหญิง

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารได้ออกพันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพ (เจนเดอร์บอนด์) ส่วนหนึ่งของอีเอสจีบอนด์ ซึ่งมีมูลค่าบอนด์ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ออกเจนเดอร์บอนด์โดยภาคเอกชน เสนอขายให้กับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) บริษัทลูกของธนาคารโลก และบริษัทดีจีอี บริษัทลูกของกลุ่มธนาคารเคเอฟดับเบิลยูในเยอรมนี เป็นพันธบัตร อายุ 7 ปี ดอกเบี้ยประมาณ 3% โดยเงินทุนที่ระดมมาจะนำมาปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขนาดเล็กที่เป็นผู้หญิง ในระยะเวลา 2 ปี วงเงินเฉลี่ยสูงสุด 15-20 ล้านบาทต่อราย หรือคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีผู้หญิงได้มากกว่า 350 ราย

โดยฐานลูกค้าเป้าหมายคือลูกค้าเอสเอ็มอีรายย่อยที่เป็นเอสเอ็มอีผู้หญิงมีสัดส่วน 40% จากปัจจุบันปล่อยให้สินเชื่อเอสเอ็มอีรายย่อยกว่า 26,000 ราย