“ทวี” ยกข้อคิดอดีตขุนคลัง ตกลง “อีอีซี” เอื้อประชาชนหรือกลุ่มทุน?

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติได้โพสต์เฟสบุ๊ค โดยอ้างคำพูดของท่านธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 เรื่อง “สหรัฐคอนเฟิร์มนายทุนลี้ภัย” โดยท่านธีระชัยฯ ได้วิพากษ์สรุปว่า สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐกับจีน พบว่ามีบริษัทที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาและจีน ได้ทำการย้ายการผลิตมาใช้สิทธิประโยชน์ยังโครงการ อีอีซี เรียกว่า “นายทุนลี้ภัย”

ท่านธีระชัย กล่าวว่า “…ปัญหาคือรัฐบาลประยุทธ์ (1) ได้จัดตั้ง อีอีซี โดยขายฝันว่าจะดึงดูดนักลงทุนประเภทซุปเปอร์ไฮเทคเพื่อพาไทยหนีออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ขายฝันสวยหรู แลกด้วยแก้ผ้าร่ายรำ ให้ต่างชาติทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้โดยเช่าที่ดินได้ 99 ปี เอาไปให้เช่าช่วงได้ มีการเวนคืนที่ เอาที่ราชพัสดุ ที่เกษตร และที่ สปก. มาใช้เพื่ออุตสาหกรรม เป็นการลดแลกแจกแถมมากกว่าการส่งเสริมที่เคยให้มากว่าห้าสิบปี แต่มาวันนี้ ธุรกิจที่นายทุนลี้ภัยจะต้องย้ายมาไทยนั้น ไม่ใช่ซูเปอร์ไฮเทค แต่เป็นเทคปัจจุบัน..ที่สามารถใช้ประโยชน์แบบเวอร์ในโครงการ อีอีซี…”

และท่านธีระชัยฯ ได้กล่าวถึง “…อภิมหาเศษฐีได้มีการกว้านซื้อที่ดินล่วงหน้าเอาไว้ให้ต่างชาติ และอภิมหาเศรษฐีพัฒนานิคมอุตสาหกรรมได้กว้านซื้อที่ดินเกษตรกรรม แล้ววิ่งเพื่อเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่สีเขียว (เกษตรกรรม) เป็นสีม่วง (อุตสาหกรรม) ที่ได้กำไรหลายสิบเท่า…”

ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี เห็นว่า ท่านธีระชัยฯ วิพากษ์ไว้มีประโยชน์ รัฐและเจ้าหน้าที่อีอีซีและทุกภาคส่วน ควรร่วมกันทำเพื่อให้โครงการ อีอีซี เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ อีอีซี ต้องมีธรรมาภิบาลสร้างกลไกป้องกันการทุจริต และเปิดโอกาสใหทุกภาคส่วนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจได้ ซึ่งจากการที่ได้ติดตามตรวจสอบข้อมูล มีเรื่องที่กังวล คือ

“โครงการ อีอีซี เป็น โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่รัฐบาล คสช.และสืบเนื่องมาถึง รัฐบาลประยุทธ์ (2) ในปัจจุบัน ที่เดินหน้าทำอย่างไม่ฟังเหตุผลและเสียงทัดทานใด คสช.ได้ใช้อำนาจเผด็จการ มาตรา 44 ตั้ง อีอีซี ขึ้น และต่อมาผลักดันเป็น พรบ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 หรือกฎหมาย อีอีซี เพื่อบังคับต่อเนื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยให้อำนาจพิเศษกับ “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ บอร์ด อีอีซี” จำนวน 28 คน ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจล้นเหลือตัดสินได้ทั้งหมด สามารถยกเว้นกฎหมายหลายฉบับ ทั้งๆที่เป็นกฎหมายทุกฉบับได้บัญญัติหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการที่จะต้องนำไปสู่การใช้อำนาจในการตัดสินใจไว้อย่างเหมาะสม และกฎหมาย อีอีซี มีตำแหน่งที่มีอำนาจพิเศษ รวบอำนาจบริหารและปฏิบัติการไว้กับเลขาธิการ อีอีซี ที่มีอำนาจมาก และมีบทบาทสำคัญ

กรณี การใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้ น้ำ ชายฝั่งทะเล และทรัพยาการธรรมชาติ ที่เป็นผลกระทบกับประชาชนและระบบนิเวศน์นั้น บอร์ด อีอีซี สามารถเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่เกษตรกรรม เป็นพื้นที่สีม่วงหรือพื้นที่ อุตสาหกรรมได้ ผู้เป็นบอร์ด อีอีซี ไม่มีตัวแทนเกษตรกรหรือตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่เลย แม้ว่าการเปลี่ยนแปลง สำนักงาน อีอีซี จะบอกว่าอ้างเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วแต่ก็ขัดแย้งต่อข้อมูลและหลักฐาน

ซึ่ง พ.ต.อ.ได้ร่วมกิจกรรมกับ เวทีสภาที่ 3 ที่เปิดเวทีเสวนา ตรวจสอบโครงการ อีอีซี ต่อเนื่องหลายครั้ง และมีการสำรวจตรวจสอบในพื้นที่โครงการ อีอีซี จริง พบว่าชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ไม่รู้เลยว่ามีรัฐหรือสำนักงาน อีอีซี ได้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย หรือ EIA ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และมีข้อมูลหลักฐานว่ากลุ่มทุนกว้านซื้อที่ดินที่เป็นพื้นที่สีเขียวหรือเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น นายทุนได้รู้ร่วงหน้าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นที่อุตสาหกรรม

พ.ต.อ.ทวี ได้ยกตัวอย่าง พื้นที่ดินในจังหวัดชลบุรี ต่อเนื่องมาจนจังหวัดฉะเชิงเทรา มีกลุ่มบริษัทหนึ่งกว้านซื้อที่ดินดักรอเปลี่ยนผังเมืองมาแล้วมากกว่า 8,000 ไร่ ซึ่งขณะซื้อเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรมทั้งสิ้นห้ามทำอุตสาหกรรม ห้ามทำโรงงาน ได้ซื้อในราคาไร่ละประมาณ 8-9 หมื่นบาท หรือรวมแล้ว ประมาณ 640-720 ล้านบาท

แต่ขณะนี้มีข้อมูลว่ามีการประชุมผ่านในระดับพื้นที่ว่าจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วง ซึ่งราคาที่ดินพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทราบจากวิทยากรที่ร่วมเสวนว่า วันนี้ราคาที่ดินที่บริษัทดังกล่าวได้กว้านซื้อ มีราคาขายไร่ละ 10-11 ล้านบาท ราคาพุ่งสูงมากกว่า 100 เท่า หรือประมาณ 88,000 ล้านบาท!

นี่เป็นเพียงรายเดียว ยังไม่รวมถึงในพื้นที่ของกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับรัฐอีกจำนวนมาก ที่รวมกันมากกว่า 1 แสนไร่ รวมทั้งพื้นที่ในความดูแลของรัฐ เช่นที่ดินราชพัสดุ ที่ดิน ส.ป.ก. ฯลฯ ที่ บอร์ด อีอีซี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

“จึงมี คำถามว่าการผลักดันโครงการ อีอีซี ว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มพรรคพวกของรัฐ”

ความจริง โครงการ อีอีซี เป็นทั้งโอกาส และ วิกฤติ ในการพัฒนา ในส่วนที่เป็นโอกาส คือ สามารถพัฒนาให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นได้ โดยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไข หรือปฏิรูป กฎหมาย อีอีซี ด้วยสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน อย่างน้อยต้องแก้ไขคณะกรรมการฯหรือ บอร์ด อีอีซี ที่มีอำนาจล้นเกิน ที่มีสัดส่วนของประชาชนในพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ได้รับผลกระทบร่วมเป็นกรรมการฯในจำนวนสัดส่วนที่เหมาะสมมากพอด้วย เพื่อให้การพัฒนาเป็นประโยชน์กับประชาชน

สำหรับในส่วนที่เป็น วิกฤติ คือ หากการพัฒนามีสภาพที่ปรากฏ จะเป็นการแย่งชิงพื้นดิน และทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ที่ถือเป็น “ฐานทุนชีวิตที่สำคัญของประชาชน” เป็นการพรากประชาชนออกจากแผ่นดินเกิด ชุมชน และจะยิ่งเป็นการส่งเสริมสร้างความเหลื่อมล้ำให้คนรวย นายทุนและต่างชาติได้รับแนะประโยชน์มากกว่าประชาชน รวมทั้งมีข้อสงสัยว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายตามมา จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้น แทนที่จะเป็นการพัฒนาแต่กลับเป็นการทำลายมากกว่า