ราษฎรอาวุโส ชี้ “อำนาจเงิน” มีบทบาท ก่อให้เกิดประชาธิปไตย ที่ไม่ตรงไปตรงมา

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 พ.ย.ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาในการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 21 ประจำปี 2562 เรื่อง​ ความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างอำนาจรัฐ ซึ่งจัดในหัวข้อ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพประชาธิปไตย ตอนหนึ่ง ว่า

การลดความเหลือมล้ำถือเป็นเรื่องระดับชาติที่ต้องขับเคลื่อน เพราะความเหลื่อมล้ำคือ ความไม่เป็นธรรมและความไม่เป็นธรรมนั้นสร้างความเหลื่อมล้ำ และส่งผลก่อให้เกิดประชาธิปไตยที่ไม่ตรงไปตรงมา เพราะอำนาจเงินเข้ามามีบทบาท

ทั้งนี้หากไม่เร่งแก้ปัญหา จะทำให้เสียสมดุล และนำไปสู่ความไม่มั่นคง เหมือนกับปรากฎการณ์ธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เพราะเกิดจากการเสียสมดุลในธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่เสียสมดุลจะนำไปสู่ความปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง ไม่มั่นคง โดยเฉพาะกองทัพ ควรต้องดูความมั่นคงสมัยใหม่

ความเหลื่อมล้ำคือ ปัญหาของความมั่นคงสมัยใหม่ที่ยากเข้าใจและยากแก้ไขกว่าความมั่นในสมัยเก่า และทำให้บ้านเมืองไม่เติบโต ดังนั้นต้องใช้สติปัญญา มีคนพูดว่าคนไทยเหมือนไก่ในแข่ง จิกตีกันในแข่ง แต่ไม่สามารถออกจากเข่งได้ เพราะเข่งนั้นมั่นคงแข็งแรง ซึ่งหากมองว่าเข่งคือปัญหา

นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้นต้องใช้วิธีทางปัญญาแก้ไข ผ่านการสร้างสมดุลทางอำนาจ ระหว่าง อำนาจรัฐ หรือ รัฎฐานุภาพ และอำนาจเงิน หรือ ธนานุภาพ กับอำนาจทางสังคม ผ่านการทำงานร่วมกัน และให้ทุกภาคส่วนมีบทบาท มีอำนาจเสมอกันและเชื่อมโยงร่วมกัน

“สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำ มี 5 โครงสร้างที่เป็นปัญหา คือ 1. ปัญหาวิธีคิดสังคมไทย ที่มองว่าความดี ความชั่ว เป็นเรื่องส่วนบุคคล คิดว่าคนจนไม่ดี และสมัยก่อนเรียกคนจนว่า คนเลว ซึ่งมีสุภาษิตกล่าวว่า รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา ดังนั้นต้องทำงานให้หนัก เป็นต้น ดังนั้นวิธีที่เป็นปัญหา คือ การซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ

2. โครงสร้างทางจิตสำนึก ซึ่งสังคมไทยขาดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนอย่างเท่าเทียม เพราะมองคนยากจน ไม่มีศักดิ์ศรี สังคมไทยเป็นสังคมที่เกลียดคนจน แม้แต่หมาก็เกลียดคนจน เพราะคนจนแต่งตัวไม่สวย มีกลิ่นเหม็น หมาจึงเห่า” นพ.ประเวศ กล่าว ส่วนจิตสำนึกเป็นเรื่องลึกที่นำไปสู่พฤติกรรม และมีโครงสร้างจิตสำนึกที่เป็นธรรม

3. โครงสร้างทางสังคม ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมทางดิ่ง เป็นความสำพันธ์ระหว่างคนมีอำนาจข้างบน และคนไม่มีอำนาจข้างล่าง หากสังคมใดเป็นแนวดิ่ง ต่อให้เคร่งศาสนา ศีลธรรมจะไม่ดี เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ พุทธศาสนาเป็นของดี แต่มีความเสื่อมเสียทางศีลธรรมมีสูง เห็นได้จากประเทศไทยมีอัตราการฆ่าคนตายสูงถึง 9 เท่าหากเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา,

4. โครงสร้างเศรษฐกิจ ที่จัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม อำนาจเงินมีความดึงดูด และ 5.โครงสร้างอำนาจรัฐ ที่ผ่านมาเคยใช้อำนาจรวมศูนย์เพราะความจำเป็น แต่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้ ทั้งนี้อำนาจรัฐ คือ ฝ่ายผู้มีอำนาจที่จะจัดสรรงบประมาณ กำหนดนโยบาย และตัดสินว่าประเทศจะเดินไปทางไหน ดังนั้นประเด็นอำนาจรัฐ จึงไม่มีผลต่อโครงสร้างทั้งหมด เหมือนกับเข่ง

นพ.ประเวศ กล่าวว่า แนวทางออกของสังคมที่เหลื่อมล้ำ ที่มากจาก อำนาจรัฐ และอำนาจเงินมีบทบาทมาก ขณะที่อำนาจทางสังคมมีน้อย คือ การสร้างพลังสังคมให้ใหญ่ขึ้น และดึงรัฐ และเงิน เข้ามามีส่วนร่วม ให้มีอำนาจเสมอกันและกลายเป็นสังคมสมานุภาพ ทั้งภาครัฐ , เงิน , สังคม เชื่อมโยง และ เอื้ออาทรต่อกัน เพื่อให้เกิดความลงตัว

ผมว่าสิ่งนี้ลงตัวที่สุด เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อสร้างสังคมสมานุภาพ และใช้เครื่องมือทางปัญญา คือเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง สำหรับการรวมศูนย์อำนาจมีคนระบุว่าเพราะความจำเป็น แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทางออกได้ คือ ต้องทำให้เกิดการรวมตัวของชุมชนและบทบาทต่างๆ ของสังคม ซึ่งพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตนายทหารใหญ่ เคยระบุถึงการให้ความสำคัญของพลเมือง

“แนวทางสู่ความสำเร็จ คือ ต้องมีความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกภาคส่วน หมายถึง ความมุ่งมั่นต่อสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ, ต้องมีหลักการร่วมกัน คือ สร้างสังคมให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดดุลในอำนาจรัฐ​โดยให้รัฐและทุนร่วมสนับสนุน, การปฏิบัติร่วมกัน คือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเชื่อใจร่วมกัน และขั้นตอนสุดท้าย คือ การปรับองค์กร

นอกจากนั้นต้องสร้างสังคมให้เข้มแข็ง คือ การรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ หรือ เรียกว่า อปริหานิยธรรม ซึ่งแปลว่าการรวมตัวเพื่อไม่ทำให้บ้านเมืองชิบหาย หรือการสร้างสังคมให้เข้มแข็ง และส่งเสริมให้การสร้างสังคมที่เข้มแข็งเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ฐานประเทศแข็งแรง คือ ชุมชน ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดกระบวนการการสร้างประชาธิปไตยจากฐานรากให้เข้มแข็ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สู้กับความไม่เป็นธรรม” ราษฎรอาวุโส กล่าว