ลับก็ต้องตรวจสอบได้! โฆษกกมธ.ทหาร ชี้กองทัพอ้างมั่นคงปิดปากงบซื้ออาวุธ หวั่นเลี่ยงการตรวจสอบ

โฆษกกมธ.ทหาร ร่ายยาว กองทัพอ้างความมั่นคง ปิดปากรายละเอียดงบซื้ออาวุธ ชี้ ลับก็ต้องตรวจสอบได้ เพราะอ้างเพื่อประโยชน์รัฐ กับอ้างเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ มันแค่เส้นบางๆ เท่านั้นเอง  

วันนี้ ( 1 พ.ย. ) นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการทหาร ได้โพสต์ข้อเขียนภายหลังการประชุมกรรมาธิการทหาร เชิญหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ชี้แจงงบประมาณกรอบการใช้งบปี 2563 ใจความว่า

“ประชุมกรรมาธิการการทหารสภาผู้แทนราษฎรเชิญหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมชี้แจงงบประมาณกระทรวงกลาโหมปี 63 มากันครบทุกหน่วยงานเลยครับ แต่คนที่คาดหวังให้มาเช่น รมต.กลาโหมไม่มา ผบ.เหล่าทัพไม่มา นอกจากโครงการต่างๆที่ไม่แสดงรายละเอียดของโครงการโดยอ้างเรื่องความมั่นคง และความลับแล้ว ยังมีเรื่องของอัตรากำลังพลที่เทอะทะ จำนวนนายพลเยอะ การขยายขนาดกองทัพ  โดยไม่มีภัยสงคราม ในขณะที่ต่างประเทศพยายามที่จะลดขนาดกองทัพแต่ทำให้มีศักยภาพในการรบสูง

เรื่องความลับ เราคงต้องมาทำความเข้าใจและขยายความความลับที่ว่านี้กันว่า ทำไมถึงต้องลับ อะไรบ้างที่ต้องลับ เช่น อาวุธที่ต้องปกปิดเป็นความลับ การปฏิบัติการทางการทหารที่เป็นความลับ

ครั้งสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อาวุธที่เป็นความลับของฝ่ายนาซีเยอรมันคือการซ่องสุมกำลังทหารละเมิดข้อตกลงหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 อาวุธที่เป็นความลับคือ จรวด V1 จรวด V2 เครื่องบินเจ็ท Messerschmitt Me 262 และ เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ล่องหน HO 2-29 เครื่องแรกของโลกเป็นต้น

ส่วนของสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมนึกอะไรที่เป็นความลับแทบไม่ค่อยออก คงจะมีเพียงระเบิดอะตอมเท่านั้น

ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นช่วงก่อนสงครามโลก ยกตัวอย่างการปฏิบัติการลับทางการทหารในประเทศไทยเลย ที่จังหวัดกาญจนบุรี หลังญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกพ่อค้าร้านราเมนชาวญี่ปุ่นเป็นนายทหารยศพันโททันที พร้อมแผนที่จังหวัดกาญจนบุรีและแนวทางที่จะใช้สร้างทางรถไฟเข้าเมียนมาพร้อมสรรพ ส่วนอาวุธที่เป็นความลับของญี่ปุ่นคือ เรือประจัญบานชั้นยามาโตะและมูซาชิ เรือดำน้ำบรรทุกเครื่องบิน ชั้น i400 (อ่านไม่ผิดหรอกครับ เรือดำน้ำบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งเป็นเรือดำน้ำรุ่นเดียวของโลก ซึ่งต่อมาพัฒนามาเป็นเรือดำน้ำบรรทุกขีปนาวุธในปัจจุบัน)

ในช่วงสงครามเย็น ทางประเทศสหรัฐอเมริกามีอาวุธลับ สถานที่ลับ และปฏิบัติการลับมากมาย อาวุธลับโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นรุ่นต้นแบบเสียมากกว่า มีที่นำมาใช้ในปฏิบัติการจริงเช่น เครื่องบินสอดแนม U2 เครื่องบินสอดแนม SR71 เครื่องบินโจมตี F117 เครื่องบินทิ้งระเบิด B1 และ B2 เป็นต้น สถานที่ลับเช่น Area51 ปฏิบัติการลับอันนี้เยอะแยะมากมาย ถ้าจะให้ยกตัวอย่างขอยกตัวอย่างในปัจจุบันที่พึ่งผ่ายมาไม่นานคือ ปฏิบัติการสังหารบินลาดิน โดยใช้อาวุธลับเป็นเฮลิคอปเตอร์ล่องหน(หลบหลีกการตรวจจับของเรดาห์หรือสะท้อนเรดาห์ต่ำ) ซึ่งประสบอุบัติเหตุ 1 ลำ ทำให้เราได้เห็นหางของเฮลิคอปเตอร์ลำที่ใช้ปฏิบัติการซึ่งไม่เคยปรากฏในสารระบบของเฮลิคอปเตอร์บนโลกนี้มาก่อน จนปัจจุบันเรายังคงไม่ทราบรูปร่างของเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังมีเรือที่อยู่ในชั้นต้นแบบ sea shadow และ เรือพิฆาต ชั้น ZUMWALT

ขอไม่กล่าวถึงโซเวียตและประเทศจีนเนื่องจากเกรงว่าจะยาวเกินไป

ฉะนั้นการกระทำอันเป็นความลับไม่ว่าจะเป็นอาวุธ สถานที่หรือปฏบัติการทางการทหาร จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นปกติ เป็นการทำที่เมื่อถูกเปิดเผยแล้ว จะเป็นเรื่องผิดหรือสุ่มเสียงต่อความผิด ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆเช่นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออาจเป็นปฏิบัติการเพื่อล้มล้างการปกครอง

มีเส้นกันบางๆระหว่างความลับที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐกับความลับที่ปกปิดความผิดเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ

ยกตัวอย่างเช่น จากเอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เล่มที่ 1 หน้าที่ 647 กระทรวงกลาโหม กองทัพบก

ข้อ 2.2 โครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์
2.2.1 โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ 7,815,826,000 บาท (ไม่มีระบุรายละเอียดว่ายุทโธปกรณ์อะไร)

ข้อ 2.3 โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณ
2.3.1 โครงการที่ผูกพันตามสัญญาเดิม 34 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 36,417,375,165 บาท จ่ายไปแล้วตั้งแต่ปี 60 เป็นจำนวนเงิน 15,545,806,885 บาท โดยจะต้องจ่ายในปี 63 เป็นจำนวนเงิน 11,987,671,900 บาท และจะต้องจ่ายอีก 2 ปี ข้างหน้าเป็นเงิน 8,883,896,380 บาท

2.3.2 โครงการที่จะเริ่มผูกพันใหม่ในปีงบประมาณ 63 ทั้งหมด 19 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 16,567,973,000 บาท โดยจะเริ่มจ่ายในปี 63 เป็นจำนวนเงิน 3,313,594,600 บาท และจะต้องจ่ายอีก 2 ปี ข้างหน้าเป็นเงิน 13,255,578,400 บาท

รวมโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณทั้งหมด 53 โครงการ ตั้งแต่ปี 60-65 ใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 52,985,348,165 บาท ซึ่งทั้ง 53 โครงการไม่มีแยกเป็นรายการว่ามีอะไรบ้าง

มาถึงตรงนี้ ผมขอยกตัวอย่างโครงการจัดหาเรือพิฆาต ชั้น ZUMWALT ของประเทศสหรัฐอเมริกา กองทัพเรือสหรัฐมีความต้องการ 28 ลำ งบประมาณในการสร้างอยู่ที่ลำละ 7,500,000,000 USD หรือลำละประมาณ 225,000,000,000 บาท ถ้าสร้างทั้งหมดตามที่กองทัพเรือสหรัฐต้องการจะต้องใช้เงินมากถึง 6,300,000,000,000 บาท หรือเกือบ 2 เท่าของงบประมาณรายจ่ายของประเทศไทย 2 ปี ทำให้สภาคองเกรส(สภาผู้แทนราษฎรของประเทศสหรัฐอเมริกา)ตั้งงบประมาณออกไปเกือบหมด เหลือให้สร้างจริง 2 ลำ ถึงกระนั้นยังต้องเสียเงินไปกับการสร้างเรือ 2 ลำนี้ถึง 450,000,000,000 บาท เทคโนโลยีของเรืออยู่ในชั้นความลับนะครับ แต่ข้อมูลที่เปิดเผยได้คือ จำนวนที่กองทัพต้องการ งบประมาณในการสร้างไม่เป็นความลับครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราไม่ต้องการที่จะให้กองทัพเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดเพียงแต่ต้องทำเป็นรายการมาให้ดูว่า เป็นโครงการอะไร ชื่ออะไร เพราะโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่ไม่ใช่โครงการที่เป็นปฏิบัติการทางการทหารลับอยู่แล้ว ซึ่งโครงการที่เป็นการปฏิบัติการทางการทหารลับ ก็จะอยู่ในสัดส่วนของงานด้านการข่าว ซึ่งอาจมีหลายภารกิจที่ต้องมีการปฏิบีติการนอกประเทศเป็นการลับ เปิดเผยไม่ได้เพราะถือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศได้

คงได้เจอกันร่วมงานอีกยาวไปจนกว่าสภาจะหมด เพราะผมเป็นกรรมาธิการการทหารสามัญ สภาผู้แทนราษฎร

#ลับแต่ต้องตรวจสอบได้