หม่อมเต่า ลั่น ไทยไม่ต้องสากล ประเทศใครประเทศมัน เพิ่มสิทธิให้แรงงานต่างด้าวไม่ได้

“หม่อมเต่า”ย้ำค้านต่างด้าวนับล้านคนตั้งสหภาพแรงงานในไทย ยันไม่เกี่ยวปม “จีเอสพี” ให้พณ.เจรจาสหรัฐฯไปก่อน

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม​ ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​แรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสั่งระงับการให้สิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (จีเอสพี) แก่สินค้าของประเทศไทย โดยอ้างถึงเรื่องไม่ปกป้องสิทธิแรงงานตามสากล ว่า การประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่อช่วงเช้าได้หารือเรื่องจีเอสพีซึ่งมีความสำคัญมากกว่าเรื่องของแรงงาน โดยกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ไปเจรจาเรื่องจีเอสพี ขณะที่เรื่องแรงงานไม่ค่อยมีอะไร โดยเรื่องที่สหรัฐฯต้องการให้มีการตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวในไทยนั้น เวลานี้เราให้คนต่างด้าวด้อยกว่าคนไทย เพราะหากให้คนไทยเท่ากับต่างด้าวอย่างนี้ ก็จะยุ่ง กระบวนการของประเทศไทยไม่ได้มาอย่างนั้น เราไม่ได้เป็นประเทศที่เสรีภาพมากมาย กฎหมายของเราไม่ได้เป็นสากล และคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสากล ประเทศใครประเทศมัน ถ้าให้ตั้งแรงงานต่างด้าวเป็นสหภาพแรงงาน เราก็เหนื่อย คนต่างด้าวพูดภาษาไทยไม่ได้ แล้วแบบนี้มันจะเป็นไปได้อย่างไร แม้กระทั่งกรณีสหภาพแรงงานที่เป็นคนไทยก็ยังทะเลาะกันเอง และอยู่ดีๆจะมีต่างชาติล้านคนมาเป็นสหภาพกลุ่มใหญ่ซึ่งเราผลักดันให้ไม่ได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้คิดอะไร จึงได้ตอบยาก อย่างไรก็ตามต้อง เราดูก่อนว่ากระทรวงพาณิชย์ของไทยกับสหรัฐฯจะเจรจาตกลงเรื่องจีเอสพีได้หรือไม่ ถ้าตกลงได้ แต่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานแล้วมาถามเราว่าทำอะไรได้บ้าง เราจึงจะได้ลงแรงคิดต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าเรื่องแรงงานเป็นข้ออ้างในการใช้ตัดจีเอสพีหรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เขามีเงื่อนไขเช่นนี้ 11 ข้อ ซึ่งสหรัฐฯยังไม่รับเรื่องการให้สิทธิ์แก่แรงงานต่างด้าว เพราะให้สิทธิคนต่างด้าวดีกว่านั้นอยู่แล้ว ตนก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยไปเป็นคนต่างด้าวที่นั่น และ 2 ข้อที่เขาจะให้เรารับ เราก็รับไม่ค่อยได้ เพราะมันมากกว่าสิทธิ์ของคนไทย

“ผมไม่อยากพูดว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เป็นกระบวนการ ความเป็นมาของสังคม และกฎเกณฑ์ประเทศ ต่อไปเป็นอย่างไรไม่รู้ วันนี้กฎหมายเราไม่ใช่กฎหมายสากล และความเจริญของประเทศมีระดับหนึ่ง การทะเลาะไม่ค่อยมี เขาต้องการให้คนงานต่างด้าวด่านายได้ เราก็ไม่เห็นว่าจะมีใครให้คนงานด่านายเลย ต่อให้แก้กฎหมายแรงงาน ก็ยังติดกฎหมายอาญา หากจะแก้กฎหมายอาญาเพื่อให้สิทธิ์แรงงานที่เป็นคนของประเทศกลุ่มหนึ่ง มันเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมจึงเรียนครม. ว่าถ้ามีอะไรช่วยได้นิดๆหน่อยๆ จะช่วยพยายาม ตอนนี้ก็นั่งคิดอะไรอยู่

เมื่อถามถึงกรณีที่ประชุมครม.เศรษฐกิจมอบหมายให้มีคณะกรรมการร่วมที่ประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ มาจัดการตรงนี้ จะมีการประชุมเมื่อใด รมว.แรงงาน กล่าวว่า ไม่รู้ แต่เราพยายามเดินตามหลังกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ ถ้า 2 กระทรวงนี้ไปตกลงเรื่องจีเอสพีได้แล้ว สหรัฐฯก็คงลืมเรื่องแรงงาน เพราะมันไม่ได้หนักอะไร และไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนมั่นใจว่าเขาอาจลืมเลย เพราะไม่ได้เลวร้ายอะไร