‘บิ๊กตู่’ ขอคนไทยอย่าตื่นสหรัฐตัด ‘จีเอสพี’ มีเวลาคุย 6 เดือน ยันต้องเคารพกม.แต่ละประเทศ

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลระดับชาติ ถึงกรณีสหรัฐมีคำสั่งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กับสินค้าจากประเทศไทย ว่า เป็นเรื่องของสหรัฐ เป็นเรื่องของกฎหมายใคร ก็กฎหมายเขา ซึ่งมีการทำงานของหน่วยงานเขา ของเราก็มีของเรา ตนจึงไม่อยากให้ไปคาดเดาว่า ตัดตรงนี้เพราะอะไร อย่างไร โดยรัฐบาลทราบมาอยู่แล้ว ว่าจะมีปัญหาตรงนี้ ที่ผ่านมาก็แก้ปัญหามาโดยตลอด กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ​ก็ได้มีการเจรจาต่อรองเยอะแยะ โดยข้อสำคัญ เราเจรจาอย่างเดียวไม่ได้ เราก็ต้องแก้ไขปัญหาภายในของเราด้วย โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาแรงงาน เราก็จะต้องไปดู ว่าเราทำได้มากน้อยแค่ไหน บางอย่างมันมีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ที่เกี่ยวข้องกับในประเทศของเรา ทั้งคนของเรา แรงงานของเรา แรงงานต่างด้าวในประเทศของเรา ซึ่งเราพยายามเดินหน้าเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นวันนี้ตนคิดว่า จะคาดเดาไม่ได้ เหมือนเขาก็คาดเดาเราไม่ได้เหมือนกัน ว่าเราจะทำอะไรต่อไป จึงขึ้นอยู่กับกติกา มันอยู่ตรงไหน

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า กติกาของเรา เราก็ทราบอยู่แล้วในหลายเรื่องด้วยกัน วันนี้อยากจะบอกว่าคงไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องตื่นตระหนก หรือว่ากล่าวให้ร้ายกันไปมา มันไม่เกิดประโยชน์ และเท่าที่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงมา ตนคิดว่าครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะเห็นว่ารัฐบาลก็ได้ทำมาโดยตลอด เพียงแต่ระยะเวลาที่ดำเนินการมา ได้ทำหลายอย่างด้วยกัน โดยเฉพาะกฎหมายแรงงานคือปัญหาหลักของเรา และเป็นกฎหมายของเราในประเทศของเรา ถ้าเราทำตามเขามากๆ เราจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่ากับเราเอง เพราะฉะนั้น เราต้องลดทั้งปัญหาภายใน และภายนอกไปด้วยกัน

“วันนี้ เท่าที่ได้ฟังตัวเลขต่างๆ ก็เป็นจำนวนไม่มากนัก ทั้งหมด 500 กว่ารายการ เราใช้ไปประมาณ​ 300 กว่ารายการ อีก 100 กว่ารายการ เราก็ไม่ได้ใช้ของเขา สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้ เราต้องตื่นตัว แต่รัฐบาลตื่นอยู่แล้ว ภาคเอกชนก็ต้องตื่นตัวไปด้วยในการพัฒนาเรื่องเหล่านี้ รวมถึงการดูแลแรงงานในประเทศไทยด้วย เพราะถือเป็นสถานประกอบการ รัฐบาลไม่ได้ลงไปข้างล่าง แต่ก็จะใช้กฎหมายในการตรวจตรา บังคับจับกุม ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ก็เดินหน้าปรึกษากันในเรื่องนี้ ทุกคนต้องมาแก้ปัญหาร่วมกัน เราถ้าไปว่าคนนู้น เดี๋ยวคนนู้นก็ว่ากลับมา ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เราต้องแก้สิ และมีการส่งผู้แทนไปเจรจามาโดยตลอดในทุกเรื่อง ช่วงที่ผ่านมาเราเจรจามาก ในหลายเรื่องที่เป็นปัญหาในอดีต เขาคุยกันหมดแล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ประเทศเขาจะยินยอมแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้มีเวลาอีก 6 เดือน เราก็ต้องหาวิธีการพูดคุยกันต่อไป ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายของเขา กฎหมายใครก็ต้องกฎหมายใคร แล้วก็อย่าไปคาดเดาว่าเกี่ยวกับเรื่องนั้น เรื่องนี้ มันคนละเรื่อง เข้าใจไหม อย่าให้เป็นปัญหาทางการเมืองอีกแล้วกัน และอย่าพูดให้ทุกอย่างมันเลวร้ายไปกว่าเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ต้องมีอยู่ คู่ค้าสำคัญของเราเหมือนกัน จะบอกว่าอย่างนู้น อย่างนี้ไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายของเขา นโยบายของเราก็คนละอันกัน แต่จะทำอย่างไรให้ร่วมมือกันได้ หยุดเถอะเรื่องพวกนี้ ไม่เกิดประโยชน์หรอก มันจะเสียหายมากกว่าเดิม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีเวลาอีก 6 เดือนที่จะมีผลบังคับใช้การเจรจาจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเราทำได้มากน้อยแค่ไหน บางอย่างเราทำได้หรือไม่ได้ ก็ต้องศึกษาดู มีหลายเรื่องก็ต้องไปดูว่าทำไมเราถึงทำตรงนี้ไม่ได้ ก็ไปว่ากันต่อไป

เมื่อถามอีกว่า เราก็จะยึดกฎหมายเรา ไม่โอนอ่อนผ่อนตามใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “กฎหมายเรา โอนอ่อนผ่อนตามใคร ตรงนั้นเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกฎหมายกับประเทศมหาอำนาจ เราก็ต้องดีลกัน ว่าจะทำอย่างไร เรื่องนั้นเรื่องนี้ บางอันเป็นกฎหมายพหุภาคีเกี่ยวข้องกับหลายประเทศด้วยกัน บางอันเป็นกฎหมายทวิภาคี กฎหมายเขา กฎหมายเรา จะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร แต่ถ้าเขาตั้งกฎเกณฑ์ไว้สูง เราก็ลำบากหน่อย เพราะเรากำลังพัฒนาเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเรื่องนี้โดนกันหลายประเทศ อย่างอินโดนีเซีย ก็ต้องดูว่าเราเสียประโยชน์เท่าไหร่ เราเสียภาษีเพิ่มขึ้นมาประมาณ 50 ล้านเหรียญ”

เมื่อถามอีกว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หากพบกับผู้นำสหรัฐ หรือผู้แทน จะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องคุยกันอยู่แล้ว อาจจะในเวที

เมื่อถามว่ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าสหรัฐจะมีท่าทีเช่นนี้ออกมา ได้มีการเตรียมมาตรการไว้แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มัน 9 ปีมาแล้ว ซึ่งสิทธิประโยชน์ทุกอย่างเราก็ต้องมาดู เอามาทบทวนหมด เพราะทุกอย่างเรากำลังโตขึ้น เมื่อโตขึ้น ก็มีตัดสิทธิพิเศษเหล่านี้ เช่นประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่ยังไม่ได้พัฒนา เขาให้สิทธิตรงนั้นมา 9 ปีแล้ว ถ้าเขาตัดสิทธิอย่างนี้ เราโตเกินไปหรือไม่ โตเร็วแล้วใช่ไหม รายได้ต่อหัวของประชากรสูงขึ้นใช่หรือไม่ และต้องดูจีดีพีของเราด้วย เพราะเขาดูตรงนี้

“ผมคิดว่าเราคุยกันได้ อะไรที่เป็นสิทธิประโยชน์ วันนี้เขาคืนมา 7 อย่างไม่ใช่หรือ ของเก่ามีตั้ง 500 กว่ารายการ เราใช้ไปแค่ 300 กว่ารายการ ส่วนที่เหลือไม่ได้ใช้ แล้วมูลค่าเหล่านี้ก็ไม่มากนัก แต่ข้อสำคัญต้องไปดู ว่าสินค้ามีความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงปานกลาง ความเสี่ยงน้อยจะไปแก้กันอย่างไร จะดีลกันอย่างไร ขณะเดียวกัน ยังไงเราก็ต้องคบค้าสมาคมกันต่อไป มีการแลกเปลี่ยนซื้อของซึ่งกันและกัน บางทีการเมืองกับเศรษฐกิจมันก็เกี่ยวข้องกันหมด เราก็อย่าให้มันแย่ลงไปก็แล้วกัน อย่าไปยึดโยงกับอย่างอื่นแล้วกัน อย่าไปคาดเดานี้นู้น พอดีมีเรื่องนี้อยู่ ก็กลายไปตรงนู้น มันเป็นห้วงระยะเวลาที่ออกมาตามกำหนดของเขา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

จากนั้น นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ชมกิจกรรมไฮไลท์ของงาน คือการสาธิตนำอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน มาช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ติดอยู่ในบ้าน เป็นต้น