“ชวลิต” เสนอผู้ว่าฯกลุ่มจังหวัดภาคกลาง โชว์วิสัยทัศน์ผักปลอดภัยทดแทนนำเข้าจากจีน

วันที่ 28 ตุลาคม 2562 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นหลังจากเรียกร้องให้รัฐบาลติดตั้งห้องแล็บสำหรับสุ่มตรวจผัก ผลไม้ ที่นำเข้าจากจีนผ่านด่านเชียงของ จ.เชียงราย โดยไทยนำเข้าผักจากจีนผ่านด่านเชียงของ มีมูลค่าถึง ปีละกว่า 3,000 ล้านบาท นั้น ผมเห็นว่า ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมแท้ ๆ แต่กลับนำเข้าผักจากจีน ส่งผลให้เงินตราออกนอกประเทศไปอย่างไม่ควรจะเป็น นอกจากนี้ จากภาวะเศรษฐกิจทึ่กำลังตกต่ำ ฝืดเคืองอยู่ในปัจจุบัน เราควรประหยัดเงินตราที่จะซื้อผักจากต่างประเทศ แล้วส่งเสริมให้ผลิตเองอย่างเป็นระบบ เงินก็จะสะพัดหมุนเวียนในประเทศหลายรอบ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

“ผมเห็นว่า ช่วงนี้ กมธ.วิ.งบประมาณ กำลังพิจารณางบประมาณพอดี จึงขอฝากข้อสังเกตไปยัง
อนุกรรมาธิการจังหวัดและท้องถิ่น ที่กำลังจะตั้งขึ้น ควรเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคกลางและเกษตรจังหวัด มาแสดงวิสัยทัศน์ในการผลิตผักปลอดภัยป้อนตลาดสี่มุมเมืองเพื่อขอรับงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด สนับสนุนเกษตรกรต่อไป ผู้ว่าราชการจังหวัดควรได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์วางแผนหารายได้เข้าจังหวัดของตนเองผ่านการพิจารณาของ กมธ.วิ.งบประมาณ ซึ่งผมมั่นใจว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถทำได้ แม้ว่าในชั้นนี้ อาจจะปรับงบประมาณไม่ทันในปีนี้ แต่ปีหน้าน่าจะวางแผนได้ทัน ซึ่งก็เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะพิจารณางบประมาณ ปี 2564 แล้ว” นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวอีกว่า เสียดายเงินปีละกว่า3,000 ล้านบาท ที่จะออกไปยังต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่เราเป็นประเทศเกษตรกรรมแท้ ๆ น่าจะวางแผนผลิตผักปลอดภัยป้อนผู้บริโภคภายในประเทศเองได้ และถ้าสามารถควบคุมการผลิตให้ถึงขั้นตรวจสอบย้อนกลับไปยังแปลงผักได้ ก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ใคร ๆ ก็ต้องการบริโภคผักปลอดภัย

ส่วนคำถามที่ว่า เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายแบนสารพิษอันตราย 3 ตัวไปแล้ว ควรจะมีทางเลือกอะไรทดแทนหรือเยียวยาเกษตรกรอย่างไร นั้น กมธ.ติดตามความเห็นของรัฐบาลอยู่ ขณะเดียวกัน กมธ.ก็ทำงานคู่ขนาน ทั้งไปศึกษา ดูงานยังพื้นที่ที่ทำโครงการเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ประสบความสำเร็จ ทั้งเชิญอาจารย์ นักวิชาการหลายมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้เกษตรอินทรีย์ เครื่องจักรกลการเกษตร มาให้ความรู้แก่ กมธ.ที่สภา ฯ  นอกจากนี้ กมธ.ยินดีรับข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่มีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาด้านการเกษตรให้ปลอดภัยทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งหมดทั้งมวลนั้น กมธ. กำลังรวบรวมจัดทำเป็นรายงานของ กมธ.เพื่อรายงานต่อสภา ฯ เป็นข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตของสภา ฯ แจ้งไปยังรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ นายชวลิตกล่าวว่า กมธ.มีเวลาทำงานถึงวันที่ 12 พ.ย.62 นี้ ครบเวลา 60 วัน ตามที่สภา ฯ มอบหมาย ซึ่งคาดว่างานจะสำเร็จตามภารกิจที่ได้รับมาอย่างทันการณ์