นักวิชาการเสนอแนวทางตั้ง “สภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ” ดีกว่าตั้งกระทรวงท้องถิ่น

วันที่ 28 ตุลาคม นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเสนอแนวทางการจัดตั้งสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ เพื่อปฏิรูปองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั้งระบบให้ออกจากการกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย (มท.) อีกทั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคภูมิใจไทย เข้าชื่อเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาตั้งกระทรวงท้องถิ่น ทำให้หลายฝ่ายแสดงความเห็นกรณีการกำหนดรูปแบบสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ จะให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสมาชิกสภา ประกอบด้วย ไตรภาคี มีตัวแทนจากราชการส่วนกลาง ผู้ทรงคุณวุฒิ และ อปท.ในสัดส่วนที่เท่ากัน และให้มีสำนักงานสภาฯ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง โดยให้ข้าราชการในสำนักงานสภาฯ มีฐานะเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือมาจากผู้ที่เคยทำงานใน อปท.

นายบรรณ กล่าวว่า สำหรับเหตุผลที่ไม่ควรตั้งเป็นกระทรวงฯ อาจมีผลที่ไม่พึงประสงค์กับหลักการกระจายอำนาจ โดยปัญหาที่เคยเกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไข หรือมีปัญหาหนักกว่าเดิม เนื่องจากมีการยกฐานะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แยกจาก มท. ให้เป็นกระทรวง

“อาจมีผลเหมือนทำให้เสือตัวเดิม ที่มีปัญหาไม่ส่งเสริมแต่ใช้อำนาจเพื่อบังคับบัญชาท้องถิ่นมาตลอด กลายเป็นเสือตัวใหญ่กว่าเดิม และติดปีกให้ด้วย ขณะที่กระทรวงมีรัฐมนตรี จะรับนโยบายรัฐบาลมาขับเคลื่อน ดังนั้นอาจทำให้กระทรวงใหม่ กลายเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนนโยบายให้ท้องถิ่นรับไปดำเนินการในลักษณะเดียวกับท้องถิ่นเป็นส่วนภูมิภาค ซึ่งกระทบต่อความเป็นอิสระของท้องถิ่นทั่วประเทศ แต่ในรูปแบบสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ ซึ่งมีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลเพียง 1 ใน 3 ฝ่ายรัฐบาลกระทำได้เพียงขอความเห็นชอบร่วมกัน กับผู้แทนของท้องถิ่นและผู้ทรงคุณวุฒิ ในสภาฯ เท่านั้น จึงตัดอำนาจสั่งการออกไปได้ แต่ถ้าหากหลายฝ่ายเห็นควรจะตั้งเป็นกระทรวง ก็ขอเสนอแนวทาง เช่น ควรให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลท้องถิ่น ที่เป็นผู้แทนของท้องถิ่น ให้กระทรวงขับเคลื่อนนโยบายโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการ หรือให้รับนโยบายจากคณะกรรมการอาจยกร่างกฎหมาย กำหนด ในเริ่มแรกให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ที่มีอยู่แล้วให้เป็นคณะกรรมการฯ ดังกล่าวก็ได้ เพราะปัจจุบันมีบางกระทรวงที่มีคณะกรรมการลักษณะดังกล่าว เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดี มีความเป็นอิสระควรจะนำมาปรับใช้กับท้องถิ่น เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้พอสมควร” นายบรรณ กล่าว