‘อนุสรณ์’​ ชี้ ไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพีกระทบส่งออก แนะ ‘รัฐบาล’​ เร่งเจรจา​การค้าเสรีกับต่างชาติ​

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ประกาศว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) กับสินค้าไทย ว่าประเมินผลกระทบสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทยว่า จะกระทบกับกลุ่มธุรกิจส่งออกที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในสัดส่วนที่สูงและจำนวนไม่น้อยจะเป็นกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) ค่อนข้างมาก เกษตรกรและชาวประมงจะได้รับผลกระทบไปด้วย สินค้าครอบคลุมมากถึง 573 รายการตั้งแต่อาหารทะเลหลากชนิด ผักผลไม้ น้ำเชื่อมและน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผักผลไม้ เมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์เครื่องครัว ไม้อัด ไม้แปรรูป เหล็กแผ่น สแตนเลส ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องประดับ จามชาม เป็นต้น สินค้าเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์หรือ ราว 39,650 ล้านบาท

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การตัดสิทธิจีเอสพีครั้งนี้อ้างเรื่องสิทธิและสวัสดิการแรงงานของไทยยังไม่ได้มาตรฐานสากล หากทางการไทยมีการทำงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศการตัดสิทธิจีเอสพีครั้งนี้ควรเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรอง อย่างไรก็ตาม การประชุมอาเซียนที่มีจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ทางการไทยควรยื่นข้อเสนอไปยังผู้แทนรัฐบาลสหรัฐที่มาร่วมประชุม เพื่อให้สหรัฐทบทวนการตัดสิทธิจีเอสพีดังกล่าว รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศเชิงรุกมากขึ้น และให้เท่าทันต่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน หากใช้มาตรการต่างๆ ตามกฎหมายภายใน เป็นไปตามระเบียบกฎหมายระหว่างประเทศ และสอดคล้องบริบทของปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมของไทย ก็ต้องยืนยันหลักการไม่หวั่นวิตกต่อแรงกดดันจากการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนข้ามชาติ

ทั้งนี้ กฎระเบียบโลกาภิวัตน์ถูกออกแบบมา เพื่อผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและบรรษัทข้ามชาติค่อนข้างมาก ระเบียบเหล่านี้กระตุ้นให้มีการแข่งขันเสนอผลประโยชน์ให้บรรษัทข้ามชาติ เห็นได้จากความล่าช้าในการยกเลิกการใช้สารพิษหรือการเรียกร้องให้ทบทวนการยกเลิกสารพิษไกลโพเซต เงื่อนไขสิทธิประโยชน์การลงทุนของต่างชาติในอีอีซี ดูตัวอย่างรูปธรรมจากการลดภาษีจำนวนมาก การลดสวัสดิการด้านสุขภาพของประชาชน หรือ ความหละหลวมในการกำกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดทอนสิทธิแรงงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ กระทำในนามการส่งเสริมการลงทุน ให้กับบรรษัทข้ามชาตินั่นเอง

“ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้ากลุ่มที่ถูกตัดจีเอสพี สินค้าจะมีราคาแพงขึ้นจากการถูกเก็บภาษีตามอัตราปกติส่งผลต่อยอดขาย ฉะนั้นต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนการผลิตในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ส่วนรัฐบาลต้องเดินหน้าเจรจาการเปิดตลาดและทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ และสหรัฐอเมริกา” นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยมีอัตราการใช้สิทธิจีเอสพี หรือสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกา และยุโรป เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตัดสิทธิจีเอสพีของอียูช่วงก่อนหน้านี้ก็ดี หรือการตัดสิทธิจีเอสพีย่อมกระทบต่อภาคส่งออกไทยพอสมควรเพราะทั้งสหรัฐอเมริกาและอียูเป็นตลาดหลักของไทย และไทยยังไม่มีการทำข้อตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐ จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอได้ ขณะที่การใช้สิทธิจีเอสพีไปญี่ปุ่นลดลง ผู้ส่งออกไทยหันไปใช้สิทธิจากข้อตกลงเอฟทีเอซึ่งได้ประโยชน์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าไปบางประเทศอย่างญี่ปุ่น ไทยได้รับประโยชน์จากหลายระบบ ได้รับประโยชน์จากระบบจีเอสพี ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเอฟทีเออาเซียนญี่ปุ่น ในการส่งออกแต่ละครั้งใช้ได้สิทธิเดียวหรือเลือกระบบใดระบบหนึ่ง ฉะนั้นผู้ส่งออกควรเปรียบเทียบเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ก่อนตัดสินใจว่า จะใช้สิทธิใดในการส่งออก