ห่วง ศก.ปี “63 ปัจจัยรุมเร้าเพียบ | เอกชนหดออกตราสารหนี้ | ธปท.จ่อช่วยลูกหนี้เงินฝืด

แฟ้มข่าว

ห่วง ศก.ปี “63 ปัจจัยรุมเร้าเพียบ

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) เปิดเผยว่า อีไอซีปรับลดตัวเลขจีดีพี ปี 2562 ขยายตัวที่ 2.8% จากเดิม 3.0% และปรับลดประมาณตัวเลขทุกตัว โดยส่งออกติดลบ 2.5% จากเดิมลบ 2.0% การบริโภคเอกชนขยายตัว 4.2% จากเดิม 4.5% การลงทุนเอกชนขยายตัว 2.8% จาก 3.4% การลงทุนภาครัฐ 2.2% จาก 2.9% และการบริโภคภาครัฐขยายตัว 1.9% จาก 2.0% สำหรับปี 2563 คาดจีดีพีขยายตัว 2.8% การส่งออกบวก 0.2% การบริโภคเอกชนขยายตัว 3.2% การลงทุนเอกชน 2.7% การลงทุนภาครัฐ 4.9% และการบริโภคภาครัฐขยายตัว 2.0% ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือสงครามการค้าโลก กระทบต่อส่งออกไทยและเศรษฐกิจไทย เงินบาทแข็งค่า หนี้ครัวเรือนสูง และความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณ 2563 ขณะที่ปัจจัยหนุนคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐมูลค่ากว่า 7.95 แสนล้านบาท รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการการเงิน

“สนธิรัตน์” รื้อแผนดันรถอีวี

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงอยู่ระหว่างเตรียมแผนส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ครอบคลุมทั้งระบบ โดยเฉพาะส่วนของแบตเตอรี่ หัวใจหลักของรถยนต์อีวี เพื่อนำไปสู่การเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ของภูมิภาค และเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำด้านรถยนต์อีวีในภูมิภาค เนื่องจากแผนส่งเสริมรถอีวีในปัจจุบันมีความล่าช้า ไม่ค่อยได้รับการตอบสนองจากผู้ใช้และผลิต เกรงว่าจะส่งผลให้ไทยเสียโอกาส เพราะขณะนี้ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามได้ประกาศเป็นผู้นำรถยนต์อีวีไปแล้ว ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะประกาศได้ภายในสิ้นปี 2562

เพิ่มบุคคลเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์

แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์และการใช้บริการจากบุคคลภายนอก ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2562 เพื่อผ่อนปรนและกำหนดหลักเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยรายละเอียดส่วนหนึ่ง คือเรื่องขยายขอบเขตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งบุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนธนาคาร (แบงกิ้งเอเย่นต์) ในธุรกรรมบางประเภทได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก ธปท. ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น มีหลักแหล่งในการให้บริการ มีความพร้อมด้านเครื่องมือและระบบ สามารถให้บริการในธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น รับถอนเงิน เบิกจ่ายสินเชื่อ รับชำระเงิน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการเข้าถึงบริการของลูกค้า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีสาขาธนาคาร หรือตู้เอทีเอ็มให้บริการ และช่วยลดการทำธุรกรรมนอกระบบ ส่วนแบงกิ้งเอเย่นต์ประเภทนิติบุคคล ยังต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์

จี้ “กสทช.” ยืดไฟล์ลิ่งดาวเทียม

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การทำเงื่อนไขสัญญา (ทีโออาร์) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ดาวเทียม ดวงที่ 4, 5 และ 6 ของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดือนกันยายน 2564 นั้น จะสามารถทำกระบวนการได้ทันก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแน่นอน และยืนยันว่าแนวทางการทำพีพีพีนั้นเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการหาเอกชนมาบริหารจัดการทรัพย์สินดาวเทียมหลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบอื่นได้ และมั่นใจว่าทีโออาร์เสร็จกลางปี 2563 ทั้งนี้ กระทรวงทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2 ครั้งแล้วว่าต้องการถือสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม (ไฟล์ลิ่ง) จนกว่าดาวเทียมทั้ง 3 ดวงหมดอายุการใช้งาน ไม่ใช่การส่งคืนให้ กสทช.เป็นผู้ดำเนินการหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ประเด็น กสทช.จะขอให้ย้ายคลื่นดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทานจากเดิมใช้คลื่นความถี่ย่าน 3400-3700 เมกะเฮิร์ตซ์ มาใช้งานย่าน 3700-4200 เมกะเฮิร์ตซ์แทนเพื่อนำคลื่น 3400-3700 เมกะเฮิร์ตซ์ออกประมูลนั้นอยู่ระหว่างการเจรจากัน เพราะหากสิทธิไฟล์ลิ่งยังเป็นของกระทรวงก็ไม่สามารถนำไปประมูลได้

ปี “63 เทรนด์เที่ยวเมืองรองมาแรง

ผลสำรวจจากเว็บไซต์ Booking.com กับกลุ่มนักเดินทางจาก 29 ประเทศ พบว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวปี 2563 กระแสเที่ยวเมืองรองของไทยจะมาแรงขึ้น มีอัตราเติบโตก้าวกระโดด โดยผู้เดินทางชาวไทยคิดเป็น 68% อยากมีส่วนร่วมในการลดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง และ 65% ต้องการเปลี่ยนแผนไปเที่ยวเพราะต้องการสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น อีกทั้งปีหน้านักท่องเที่ยวจะใช้เทคโนโลยีช่วยตัดสินใจและเลือกสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น โดยชาวไทยกว่า 82% ระบุอยากใช้เทคโนโลยีพาเที่ยว 64% ระบุว่า ระหว่างเดินทางจะใช้แอพพลิเคชั่นช่วยเลือกและจองกิจกรรมให้แบบเรียลไทม์ ขณะที่ 73% ระบุว่า อยากสัมผัสความรู้สึกแบบย้อนเวลา เช่น นั่งรถไฟสายประวัติศาสตร์ และที่สำคัญปีหน้าเป็นปีแห่งทริปสองวัย จะมีปู่ย่าตายายไปพักร้อนกับหลานโดยพ่อแม่ไม่ได้ไปด้วย

เอกชนหดออกตราสารหนี้

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ไทยบีเอ็มเอ) กล่าวว่า ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยโดยรวม 9 เดือนแรกปี 2562 ขยายตัว 3.7% มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 91,280 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 16% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวออกเพิ่มขึ้น 15% ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นมีมูลค่าการออกลดลง 66% ส่วนใหญ่เป็นการเสนอขายต่อนักลงทุนสถาบันเท่านั้น ส่วนทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลครึ่งหลังปี 2562 คาดว่าจากค่าเงินบาทแข็งและเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งปลายปี 2562 จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นขยับลดลงตาม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว อยู่ระดับต่ำสุดแล้วน่าจะมีโอกาสปรับตัวลงได้อีกไม่มาก

ทุ่ม 4.8 หมื่นล้านยกระดับถนน

นายปฐม เฉลยวาเรศ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ทช.มีถนนโครงข่ายในความรับผิดชอบทั่วประเทศ 3,267 สายทาง ระยะทางรวม 47,960 กิโลเมตร (ก.ม.) โดยปีงบ 2562 ได้รับงบฯ 46,786 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 40,865 ล้านบาท หรือสัดส่วน 87.35% สำหรับปีงบประมาณ 2563 ทช.ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 48,005 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามภารกิจและนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ ถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต ถนนเพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค ถนนในเขตผังเมืองรวม ยังมีโครงการพัฒนาสานต่อนโยบายรัฐบาล คือ การผลักดันเส้นทางถนนเลียบชายฝั่งภาคใต้ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว หรือโครงการไทยแลนด์ริเวียร่า เบื้องต้นอยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณปี 2563 คาดเริ่มก่อสร้างปี 2564 รวมถึงเตรียมใช้งบฯ 1,000 ล้านบาทพัฒนาเส้นทางย่อย (สเปอร์ไลน์) เพื่อใช้เป็นถนนเชื่อมโยงถนนสายหลัก

ธปท.จ่อช่วยลูกหนี้เงินฝืด

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่กู้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน ที่ยังไม่กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เนื่องจากการติดตามโครงการคลินิกแก้หนี้ที่แก้ไขหนี้ให้ลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลพบว่ามีลูกหนี้รายย่อยที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลมีการเข้ามาขอคำปรึกษาด้านการปรับโครงสร้างหนี้จากบริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ที่เป็นผู้ดำเนินโครงการคลินิกแก้หนี้มากขึ้น

สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล ไม่ถือว่าเป็นหนี้ที่มีปัญหาและไม่ต้องรายงานข้อมูลไปยังบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร)