แกนนำยางอีสานเรียกร้องเครือข่ายทั่วประเทศยื่นหนังสือ “บิ๊กตู่” ทบทวนราคาซื้อยางก้อนถ้วย

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นายศิวะ ศรีชาย ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เขตภาคใต้ตอนกลาง เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับแนวทางการนำเสนอแก้ไขปัญหาราคายางโดยนายเขสัก สุดสวาท ประธานสหกรณ์ชาวสวนยางยโสธร จำกัดอดีตเลขานุการคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) เรียกร้องเกษตรกร กลุ่มรับซื้อยางก้อนถ้วย สถาบัน สหกรณ์ และเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ภายในวันที่ 25 ตุลาคม นี้ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนและหาวิธีการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณน้ำหนักต่อไร่ต่อวันค่าดีอาร์ซี และราคาต่อกิโลกรัม (กก.) ของยางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นชนิดยางที่มีการผลิตมากที่สุดถึง 60% ของการผลิตยางทั้งหมดในประเทศไทยตามนโยบายโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล

นายศิวะ กล่าวว่า หลักการและวิธีคิดคำนวณราคาต้นทุนและราคาที่รัฐบาลได้กำหนด ปรากฏว่า เกษตรกรชาวสวนยางที่ทำยางก้อนถ้วย ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการ กำหนดราคา และวิธีการจ่ายเงิน ด้วยเหตุผล ยางแผ่น น้ำยางสดประกันไว้ที่ 100% ส่วนยางก้อนถ้วยที่มีเกษตรกรทำมากที่สุดได้รับ การประกันรายได้ที่ ดีอาร์ซี 50% จึงทำให้ราคาของยาง 3 ชนิดแตกต่างกันมาก

มีรายงานว่า นายเขสัก สุดสวาท ประธานสหกรณ์ชาวสวนยางยโสธร จำกัดโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงพี่น้องชาวสวนยางพาราทั่วทั้งประเทศ ระบุว่า หลังจาก ครม. มีมติอนุมัติ โครงการประกันรายได้ ยางพารา ให้กับชาวสวนยางทั้ง 3 ชนิด ผมและตัวแทนเครือข่ายชาวสวนยางทั้งประเทศมีความเห็นว่า ขอเรียกร้องให้ท่านผู้นำเครือข่ายทุกจังหวัด ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ หาวิธีแก้ไข หลักการประกันรายได้ของยางก้อนถ้วยให้ได้ 100% เหมือนยางชนิดอื่นต่อไป ก่อนวันที่ 25 ตุลาคมนี้

นายไพรัช เจ้ยชุม ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.พัทลุง จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ยางพาราในขณะนี้มีราคาตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำยางสดมีราคาเพียง 33 บาทต่อ กก.เท่านั้นและยังมีแนวโน้มจะลดราคาลงอีกสำหรับนโยบายประกันราคายางพาราโดยใช้ระยะเวลา 6 เดือน เป็นเงิน 24,000 ล้านบาท หากรัฐบาลนำไปลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราใช้ภายในประเทศจะเป็นผลสำเร็จมากกว่านโยบายประกันราคายางของรัฐบาล เพราะนโยบายดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรในระยะสั้น แต่หากนำไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเป็นการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้อย่างถาวร และมีประสิทธิภาพ

“การแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำยากที่จะแก้ไขได้ในขณะที่บริษัทชาวต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศไปแล้วหลายแห่ง การแก้ไขปัญหาต้องแก้ที่แหล่งผลิตโดยนำผลผลิตน้ำยางไปใช้ในโรงงานในพื้นที่ให้มากที่สุด และในสภาพหนี้ในครัวเรือนของเกษตรกรชาวสวนยางพารายังพุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับการดำเนินการของสหกรณ์ยางพาราใน จ.พัทลุง ได้ประสบปัญหาการขาดทุนมากกว่า 30 สหกรณ์มีกำไรแค่ 7 สหกรณ์ เท่านั้น” นายไพรัช กล่าว