ภารกิจ รัฐบาลบิ๊กตู่ ดันงบปี 63 ผ่านสภา จับตา ทุกจังหวะก้าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรีเข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม

พล.อ.ประยุทธ์สรุปภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ว่ามีวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท จัดสรรตามแนวยุทธศาสตร์ 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ คือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 428,190.6 ล้านบาทยุทธศาสตร์สร้างความสามารถในการแข่งขัน 380,803.1 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 571,073.8 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 765,209.4 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 118,700.2 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 504,686.3 ล้านบาท

ขณะที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายชี้จุดบกพร่อง เพื่อให้แก้ไข 7 ประการ

1.งบประมาณถูกใช้ไปกับภาคส่วนที่ไม่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เช่น การซื้อยุทโธปกรณ์ งบกระทรวงกลาโหมพุ่งทะยานขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน

2.งบประมาณขาดความชัดเจนในแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

3.งบกลาง ถูกจัดสรรสูงอย่างน่าห่วง มีสัดส่วนถึง 5.18 แสนล้านบาท มากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ

การนำเงินก้อนใหญ่ไปวางกองไว้ในงบกลาง ทำให้รัฐบาลใช้อัดฉีดแจกฟรีแบบตามอำเภอใจ นำไปสู่การคอร์รัปชั่นเพื่อประโยชน์ของบางกลุ่ม

4.งบประมาณถูกใช้แบบเกินตัว ขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง

ปีนี้ขาดดุลสูงถึง 4.6 แสนล้านบาท มากที่สุดในประวัติศาสตร์ การใช้เงินมหาศาลอย่างด้อยประสิทธิภาพ ใช้จ่ายออกไปมาก แต่เก็บภาษีได้น้อย ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น

5.งบประมาณถูกใช้ไปอย่างมักง่าย นำเงินไปแจกแบบสิ้นคิด โดยไม่ได้ยึดโยงกับการพัฒนาผลิตภาพและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ

ตัวอย่าง เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การแจกเงินท่องเที่ยว ชิมช้อปใช้ การแจกเงินปลายปีเพื่อให้ประชาชนไปซื้อของ ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้ประเทศพัฒนาผลิตภาพการผลิตได้เลย เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

6.งบประมาณถูกใช้ไปแบบกระจุกตัว มุ่งสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มที่ใกล้ชิดรัฐบาล

และ 7.งบประมาณถูกใช้ไปแบบผิดฝาผิดตัว นำเงินไปสนับสนุนภาคส่วนที่ไม่มีอนาคต และอุตสาหกรรมดาวร่วง

ในการอภิปรายวันแรก พรรคฝ่ายค้านเน้นให้เห็นถึงการจัดสรรงบประมาณไปที่ฝ่ายความมั่นคงมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อการจัดสรรให้งบกลางมีจำนวนสูงถึง 5 แสนล้านบาท ในขณะที่การใช้งบกลางขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร ดังนั้น เกรงว่าจะเกิดการใช้จ่ายแบบควบคุมไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าว ถือเป็นการอภิปรายในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างมีเจตนาจะให้งบประมาณปี 2563 ได้รับการพิจารณาและประกาศใช้

ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาล นับตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ จึงให้ความมั่นใจว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณผ่านแน่

แม้ฝ่ายรัฐบาลจะมีเสียงปริ่มน้ำ คือ ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีเสียงในสภามากกว่าฝ่ายค้าน 5 เสียง แต่เพราะเหตุที่ร่าง พ.ร.บ.นี้เพิ่งเข้าสภา ในวาระ 1 ซึ่งจะมีการแก้ไขในวาระ 2 ขั้นกรรมาธิการ ก่อนจะโหวตอีกครั้งในวาระ 3

ดังนั้น พรรคฝ่ายค้านหลายคนจึงแสดงความเห็นว่า รัฐบาลจะปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.งบบางจุด

แสดงว่าแม้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 จะผ่านวาระ 1 ขั้นรับหลักการไปแล้ว ก็ใช่ว่าการพิจารณางบประมาณในขั้นตอนที่เหลือจะ “สะดวกสบาย”

ตรงกันข้าม การพิจารณางบประมาณในวาระ 2 ขึ้นกรรมาธิการจะมีโอกาสเกิดความขัดแย้งกันตั้งแต่การคัดตัวบุคคลมาลงเป็นคณะกรรมาธิการงบประมาณ

ทั้งนี้เพราะทุกพรรคการเมืองล้วนมี ส.ส. และ ส.ส.ก็ต้องการให้งบประมาณไปปรากฎอยู่ในเขตพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ

โดยเฉพาะพรรคที่มี ส.ส.เขตมาก หากสามารถใช้งบพัฒนาในพื้นที่ของตัวเองมาก ย่อมเป็นบวกมากกว่าเป็นลบ

ขณะเดียวกัน งบประมาณที่ร่างกันมามีหลายจุดที่มีการพูดถึง และมีข้อเสนอให้ปรับแก้

ดังนั้น ข้อเสนอที่กรรมาธิการรับไป ทั้งแก้ไขและไม่แก้ไข ทุกอย่างล้วนมีผลต่อเสียงโหวต

จึงเป็นไปได้ว่า การพิจารณางบประมาณในวาระ 2 จะมีการต่อรองกันสูง

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในช่วงท้ายปี คือ ปัญหาเศรษฐกิจของโลกจะลากยาวไปถึงปี 2563

นางคริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงข่าวเมื่อต้นเดือนตุลาคม

บอกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะชะลอตัวทั่วโลกเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการชะลอตัวที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลกที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน

ไอเอ็มเอฟชี้ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจรวมทั่วโลกปี 2562 จะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี

การใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจนำไปสู่การสั่งสมหนี้ของบริษัทธุรกิจ

และเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้

ทั้งนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกแย่ลงสืบเนื่องจากความขัดแย้งแตกแยกต่อเนื่องกันหลายๆ กรณี

ตั้งแต่ความขัดแย้งด้านการค้า ความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์และกรณีเบร็กซิท สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน

ทำให้การค้าโลกแทบหยุดนิ่งแล้ว

ผลความเสียหายโดยรวมอาจสูงถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2563 หรือ 0.8 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพีของโลก

เป็นเสียงเตือนจากไอเอ็มเอฟ

การพิจารณางบประมาณปี 2563 ถือเป็นปีแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะพบกับข้อเสนอแนะและข้อคัดค้าน

ทั้งนี้เพราะตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. การผ่านงบประมาณทุกอย่างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

ไร้เสียงคัดค้าน

แต่สำหรับปีนี้ รัฐบาลต้องฟังหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายราชการ

การรวมคนหลายฝ่ายมาประชุมเรื่องงบประมาณ ย่อมมีข้อขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติ

การฟันฝ่าความขัดแย้งไปได้ ต้องใช้วิธีการต่อรอง

ถ้ายอมมากแผนงานหลายอย่างที่คาดหวังก็ไม่มีงบประมาณสนับสนุน

ถ้าไม่ยอมเลย เสียงสนับสนุนในสภาก็อาจมีปัญหา

การผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ยังเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่ต้องแก้

ทุกอย่างจึงกลับมาโฟกัสที่ฝีมือของรัฐบาล

ทุกจังหวะก้าวของงบประมาณ ยังต้องเฝ้ามองอย่างระมัดระวัง