“จุรินทร์” ตั้งทีมรับมืออหิวาต์หมู ชงงบช่วยผู้เลี้ยงรายย่อย 1.8 พันล้าน

นายกฯแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันอหิวาต์หมูแห่งชาติ “จุรินทร์” ประธาน เผยล่าสุดแพร่ระบาดจากตะเข็บชายแดนเมียนมา-กัมพูชา-ลาว เข้าถึงเหนือจดอีสาน “เชียงราย-ศรีสะเกษ-บุรีรัมย์-อุบลรฯ-นครพนม” กรมปศุสัตว์ฆ่าแล้วหมื่นตัว พร้อมเร่งผลักดันของบฯ 1,800 ล้าน จ่ายค่าชดเชย

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานโดยอ้างถึงแหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อม และสามารถดำเนินการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 โดยมอบหมายให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมีรองประธาน 2 คน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ, อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงต่าง ๆ เช่น กลาโหม, คลัง, คมนาคม,ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พาณิชย์, มหาดไทย, สาธารณสุข เป็นต้น

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์เปิดเผยว่า ขณะนี้โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรมีความเสี่ยงสูงมากจะเกิดการแพร่ระบาดในฟาร์มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในหลายจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมากัมพูชา และลาว และเข้ามายังประเทศไทยเช่น เชียงราย พะเยา และน่าน ล่าสุดที่ศรีสะเกษ, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี, นครพนม เป็นต้น ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ฆ่าสุกรไปประมาณ 10,000 ตัว โดยให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระดมเงินจากผู้เลี้ยงรายใหญ่เข้า “กองทุนชดเชยและป้องกันโรค ASF” ไว้จ่ายชดเชย ใช้เงินไปแล้วกว่า 40 ล้านบาท และยังติดเงินผู้เลี้ยงรายย่อยในหลายฟาร์มที่ได้ฆ่าสุกรไปแล้วแต่ไม่มีเงินจ่าย จนสร้างความไม่พอใจให้ผู้เลี้ยงรายย่อยดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงพยายามผลักดันให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวาระแห่งชาติ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อผลักดันงบประมาณที่ขอไปเบื้องต้นประมาณ 1,800 ล้านบาทเพื่อมาจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เลี้ยงรายย่อย ก่อนลุกขึ้นมารวมตัวกันประท้วง ขณะเดียวกันจะได้ขอกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยป้องกัน เพราะกรมปศุสัตว์เองมีบุคลากรจำกัด

ขณะที่ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “กองทุนชดเชยและป้องกันโรค ASF” ของผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศที่ส่งมาที่สมาคม 36 ล้านบาท

สมาคมได้ใช้จ่ายไปหมดแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2562 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรจากภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศได้โอนมาให้อีก 6 ล้านบาท ก็หมดลงแล้วเช่นกันเพราะเงินที่โอนเข้ากองทุนส่วนกลางส่วนใหญ่จะนำไปใช้หนี้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่มีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ (PRRS) เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ อย่างไรก็ตามหมูที่เป็นโรค PRRSสามารถบริโภคได้

“โรค ASF ยังไม่เกิดในไทย ต้องช่วยกันป้องกัน หากเกิดขึ้นมาจะลุกลามเร็วมากราคาหมูจึงยังไม่นิ่งผู้เลี้ยงยังขาดทุน เพราะผู้บริโภคยังกลัวกันอยู่ ทำให้ราคาหมูเป็นในภาคเหนือและภาคอีสานที่ติดประเทศเพื่อนบ้านที่ระบาดอยู่ที่ระดับเฉลี่ย กก.ละ 50-52 บาท ส่วนภาคกลางภาคตะวันตก กก.ละ 54-56 บาทขณะที่ต้นทุนการผลิตกก.ละ 60 บาท” นายสุรชัยกล่าว