ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ร่วงต่ำสุด! ในรอบ 12 เดือน – ส.อ.ท.หั่นเป้าผลิตรถยนต์

ความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ร่วง – นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. 2562 อยู่ที่ระดับ 92.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 92.8 ซึ่งเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศไทยที่ยังคงชะลอตัว

โดยผู้ประกอบการกว่า 70% ยังกังวลต่อปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่ยังไม่มีทีท่าคลี่คลายลง และกว่า 50% กังวลต่อเรื่องเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง โดยในเดือนก.ย. 2562 เงินบาทแข็งค่าแตะระดับต่ำสุดที่ 30.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งค่ากว่า 5% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย. 2561 ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบ ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจด้วย

“ยอมรับว่าผลกระทบจากการแข็งค่าเงินบาท ทำให้การส่งออกรถยนต์มีปัญหามากมูลค่าตลาดนี้ที่ลดลงทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท และไม่เพียงกระทบการส่งออกรถยนต์ แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในไทยหายไปด้วย ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคบริการและภาพรวมเศรษฐกิจ”

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ช่วยให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลลงบ้าง แต่ยังมีปัจจัยกดดันภายในประเทศที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้น ประกอบกับการชะลอการลงทุนภายในประเทศ เห็นได้จากการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบในการผลิตลดลง รวมทั้งการบริโภคในประเทศที่ยังชะลอตัว และอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลง

นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ยังมีความล่าช้ามากเกินไปแล้ว ขณะที่การทำให้เศรษฐกิจในประเทศแข็งแรงส่วนหนึ่งต้องมาจากการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินที่ถูกต้องถูกเวลาและเหมาะสมในจังหวะที่ดี ซึ่งเชื่อว่าการพิจารณางบประมาณประจำปี 2563 จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร์ได้ แต่หากไม่ผ่านและมีปัญหาการเมืองเข้ามาแทรกอีก จะทำให้ความเชื่อมั่นทั้งนักลงทุนและนักท่องเที่ยวลดลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวอยู่ที่ระดับ 103.4 เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนอยู่ที่ระดับ 102.9 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการชิมช้อปใช้ ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายปี 2562

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. ปรับประมาณการยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ใหม่อยู่ที่ 2 ล้านคัน ลดลง 1.5 แสนคัน จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 2.15 ล้านคัน ซึ่งน้อยกว่ายอดผลิตรถยนต์ปี 2561 ที่ผลิตได้ 2.16 ล้านคัน

ทั้งนี้ แบ่งเป็นยอดผลิตเพื่อส่งออกคาดจะผลิตได้ 1 ล้านคัน ลดลง 1 แสนคัน จากเดิมคาดไว้ที่ 1.1 ล้านคัน ลดลงจากปีก่อนที่ผลิตได้ 1.14 ล้านคัน เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวลงจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศคาดจะผลิตได้ 1 ล้านคัน ลดลง 50,000 คัน จากเดิมคาดไว้ที่ 1.05 ล้านคัน ลดลงจากปีก่อนที่ผลิตได้ 1.02 ล้านคัน จากสถานการณ์น้ำท่วมและความเข้มงวดที่มากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงิน

“หากตลาดรถยนต์ชะลอตัวลงในช่วงสั้นๆ คงไม่ถึงขั้นต้องเลิกจ้างงาน แต่อาจมีการปรับลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลาลงบ้าง ต้องติดตามภาคการท่องเที่ยวจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เศรษฐกิจดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้จากภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนกับภาครัฐ รวมถึงแนวโน้มค่าเงินบาท เหล่านี้เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน ทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์น่าจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า”

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับยอดผลิตรถยนต์เดือนก.ย. 2562 ที่ผ่านมาเทียบช่วงเดียวกับปีก่อนลดลง 7.49% อยู่ที่ 1.69 แสนคัน เป็นยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 8.24% อยู่ที่ 91,119 คัน ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 6.59% อยู่ที่ 78,355 คัน ส่วนยอดผลิตรถยนต์รวมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 2562) ลดลง 1.96% อยู่ที่ 1.57 ล้านคัน เป็นยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 5.72% อยู่ที่ 8.14 แสนคัน ขณะที่ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 2.42% อยู่ที่ 7.57 แสนคัน