‘ช่อ’ อัดรัฐดับไฟใต้ไม่ตรงจุด ปัญหาอยู่ที่วิสัยทัศน์ผู้นำ จี้ตัดงบโฆษณาชวนเชื่อ

เมื่อเวลา 18.55 น. วันที่ 18 ต.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วันที่ 2 น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายงบประมาณด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ความไม่สงบใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ปีที่ 16 แล้ว เป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่นองเลือดที่สุดในโลก มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คน ประเทศชาติสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ สมควรเป็นผู้เชี่ยวชาญในปัญหานี้มากที่สุด เพราะท่านเป็นนายกฯ ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในระหว่างความขัดแย้ง

“ใน 5 ปีงบประมาณที่ผ่านมา ท่านใช้งบในการจัดการปัญหาภาคใต้ไปถึง 81,924 ล้านบาท เฉลี่ยภาษีที่ประชาชนเสียไปให้รัฐบาลวันละ 56 ล้านบาท จากการฟังคำชี้แจงของนายกฯ เมื่อวานนี้ ทำให้คิดว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถดับไฟใต้ น่าจะอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ สิ่งหนึ่งที่รู้สึกติดใจจากคำชี้แจงของนายกฯ คือท่านมองว่ารากฐานของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพราะประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ”

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ต้องถามว่าจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ เมื่อเกือบ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งทหารตัดสินใจใช้กระสุนจริง หรือกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่ออกมาจากค่ายอิงคยุทธบริหารในสภาพเจ้าชายนิทรา หากครอบครัวของผู้เสียชีวิตเหล่านี้ไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ ท่านคิดว่าเป็นเพราะพวกเขาได้รับข้อมูลที่บิดเบือนหรือไม่ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลยังมองว่าปัญหาใน 3 จังหวัดเกิดจากสาเหตุนี้ จะไม่มีวันแก้ปัญหานี้ได้ไม่ว่าจะใช้งบประมาณแค่ไหน

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า แม้ความรุนแรงในภาคใต้ลดลง แต่คุณภาพชีวิตของประชาชนและความเชื่อมั่นต่อรัฐยังไม่ดีขึ้น โดยงบในการแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ใช่จำนวน 1 หมื่นล้านในแผนบูรณาการ แต่คือ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งปัญหาแรกของการจัดทำงบ คืออำนาจในการจัดสรรงบประมาณและความผิดปกติของการใช้งบประมาณ กอ.รมน. ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่รัฐใช้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนใต้มีอำนาจในการแทรกแซงการใช้งบจำนวน 3 หมื่นล้านนี้ โดยเฉพาะงบจังหวัด ทั้งที่ กอ.รมน.ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบของหน่วยงานตัวเองได้เต็มประสิทธิภาพ

“อีกปัญหาคือในพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 ให้อำนาจครม.ในการโยกงบของหน่วยงานในแผนบูรณาการเดียวกันไปยังหน่วยงานอื่นได้ เท่ากับท่านใช้อำนาจฝ่ายบริหารข้ามหัวสภาฯ เพราะพ.ร.บ.งบฯ ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ไปแล้วว่างบแต่ละอย่างจะใช้ทำอะไร ”

“รัฐบาลอยากดับไฟ แต่ยังไม่รู้ว่าไฟอยู่ตรงไหน น้ำมีเท่าไหร่ ตัวชี้วัดที่ผิดนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งไว้ไม่ตรงกับสิ่งที่ควรจะเป็น เช่น ตั้งเป้าว่าประชาชนปรับเปลี่ยนทัศนคติและมีความรู้สึกดีต่อหน่วยงานทหาร หรือตั้งเป้าว่าจีดีพีในจังหวัดชายแดนใต้โต 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ทั้งประเทศโตแค่กว่า 2 เปอร์เซนต์ เราพูดถึงการสร้างสันติภาพ แต่ตอนนี้ไม่มีตัวชี้วัดในการพูดคุยสันติภาพแล้ว ทหาร กอ.รมน.ได้งบ 2,200 ล้าน แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้เพียง 5 แสนบาท ตกลงว่าสันติภาพนี้สร้างบนปลายกระบอกปืนหรือการเคารพสิทธิมนุษยชน”

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาภาคใต้ที่ยั่งยืนคือการอำนวยยุติธรรม แต่มีงบเพียง 1 เปอร์เซนต์ ส่วนงบวัฒนธรรมมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ภาครัฐพูดถึงสังคมพหุวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างสายข่าวงบประมาณ 932 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งมาโผล่ในงบประมาณปี 2563 ขณะที่งบกลุ่มจังหวัดบวกงบจังหวัดยะลาปัตตานีนราธิวาส รวมไม่ถึง 600 ล้านบาท แสดงว่างบที่ใช้บริหารจัดการพื้นที่ 3 จังหวัด คิดเป็นเพียง 2 ใน 3 ของงบสร้างสายข่าว

“ทั้งหมดนี้ไม่ได้ดับไฟใต้ มีแต่เติมเชื้อไฟ เช่น งบสร้างสายข่าว ท่านมองปัญหาเป็นเรื่องความมั่นคง ไฟใต้จะดับได้ต้องจับโจรที่ทำผิดกฎหมายและแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งไม่ได้ผิด แต่ไม่ครบ ตัวแปรสำคัญขาดไป เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคง แต่คือปัญหาการเมือง ถ้าดูงบที่ใช้กับโครงการต่างๆ 4 ส่วน แบ่งเป็นความความมั่นคงร้อยละ 36 โฆษณาชวนเชื่อร้อยละ 42 แต่ใช้กับการเยียวยาฟื้นฟูกระบวนการสันติภาพและการพัฒนาเพียงร้อยละ 14 และร้อยละ 6 งบส่วนใหญ่ 3 ใน 4 เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ คือการสร้างความจริงแลัวยัดเยียดให้ประชาชนเชื่อ ไม่ใช่การยอมรับความจริงแล้วแก้ไขมัน

“ขอเสนองบดับไฟใต้แบบอนาคตใหม่ คือตัดงบโฆษณาชวนเชื่อ แล้วไปเกลี่ยให้การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ขอให้ปีนี้เป็นปีเริ่มต้นของเส้นทางไปสู่เส้นทางสันติภาพ ไม่ใช่การเดินทางไปอีก 15 ปีเแล้วพบว่าใช้งบไปโดยการแก้ปัญหาไฟใต้ไปไม่ถึงไหน” น.ส.พรรณิการ์กล่าว

ต่อมา พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงว่าตนไม่อยากพูดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนโยบายในอดีตเป็นอย่างไร มีการปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ โดยแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2563 เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของ 17 กระทรวง 53 หน่วยงาน เป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาความรุนแรง สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สร้างชุมชนเข้มแข็ง และสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งการจัดงบประมาณในแผนบูรณาการเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงตั้งไว้ 10,865 ล้านบาท

“ส่วนงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดตั้งไว้ 5,319 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อให้เด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด และให้เกิดการพัฒนาในทุกๆเรื่อง ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการอำนวยความยุติธรรม และการเยียวยาด้วย” พล.อ.ชัยชาญ กล่าว