“อนาคตใหม่” แนะต้องเปลี่ยนการจัดการอุดมศึกษาให้หลากหลาย-ใช้ได้ในชีวิตจริง กระจายงบวิจัยต้องเป็นธรรม

วันที่ 18 ตุลาคม ที่รัฐสภา (เกียกกาย) นายสุรวาท ทองบุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ร่วมอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 กรณี ปัญหาการจัดงบประมาณในการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และการวิจัยในปี 2563 โดยระบุว่า งบประมาณที่ได้เห็นในเอกสาร ในส่วนของมหาวิทยาลัยซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นหลักนั้น ไม่ได้สะท้อนให้เห็นและไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือแม้แต่สังคมไทย และที่สำคัญคือบริบทและปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยในวันนี้ ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่ได้รับการแก้ไข, การจัดสรรงบประมาณในรายมหาวิทยาลัย ในกลุ่มมหาวิทยาลัยต่างๆ, การจัดสรรงบประมาณการวิจัย ที่ผิดไปจากปีก่อนๆ วันนี้งบประมาณเพื่อการวิจัยนั้นไม่ได้ปรากฏในมหาวิทยาลัยใด

“สิ่งที่เราอยากเห็นคือการจัดการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษานั้น ควรจะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เป็นรูปแบบใหม่ๆ เทคโนโลยีรูปแบบวิธีการสอนทั้งหลายจะต้องหลากหลาย เป็นไปด้วยการผสมผสานประสบการณ์ในชีวิตจริง รวมทั้งการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม และผ่านโลกของดิจิตอล ที่จะต้องผสมผสานกันอย่างกลมกลืน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ทั้งนี้ งบประมาณที่ทางกระทรวงอุดมศึกษาได้จัดสรรไว้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เล็กน้อยเหลือเกิน โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่มีงบถึง 931 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพียง 3,869 คน ในขณะที่ผู้เรียนอยู่ในวันนี้นับล้านคน, โครงการปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน อบรมเพียง 400 คน จากประชากรไทย 60 กว่าล้านคน นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีความต้องการที่จะใช้ครูปีหนึ่งประมาณ 2 หมื่นกว่าคน กลับมีการกำหนดโครงไว้เพียง 2,974 คน ด้วยประมาณ 283 ล้านบาท นอกนั้น ดูเหมือนจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ ด้วยงบ 25 ล้านบาท สำหรับผู้เรียน 5,000 คน ขณะที่วันนี้มีคนจะต้องเรียนรู้ในระบบได้เรียนรู้ตลอดชีวิตหลายสิบล้านคน” นายสุรวาท กล่าว

นายสุรวาท กล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านงบประมาณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ได้รับงบประมาณ 18,267 ล้านบาท ดูแลนักศึกษาอยู่เกือบ 5 แสนคน ในขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ และ ม.มหิดล เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีต้นทุน และมีทำเล มีอะไรอยู่มากมาย ก็ยังได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 21,000 ล้าน ส่วนมหาวิทยาลัยราชมงคลนั้นก็เช่นกันได้งบ 8,000 ล้านบาท ใน 9 แห่ง ยังไม่รวมวิทยาเขต ถ้าท่านดูการจัดสรรงบประมาณรายหัว จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐ ซึ่งยังต้องเป็นภาระรับงบประมาณจากรัฐบาลอยู่ จากงบประมาณแผ่นดิน จากภาษีของประชาชนอยู่ วันนี้ยังได้รับงบประมาณรายหัวของผู้เรียนถึง 135,000 บาท ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏต่อหัวนั้นแค่ 36,000 กว่าบาท คิดเป็น 3.7 เท่า ที่มหาวิทยาลัยในกำกับได้มากกว่า และได้มากกว่ามหาวิทยาลัยราชมงคล 2.3 เท่า

“อีกประเด็นคือเรื่องการจัดตั้งงบประมาณของการวิจัย มหาวิทยาลัยไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเลย จะมีการจัดตั้งงบประมาณไปไว้ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 5,800 ล้านบาท และที่กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) 12,000 ล้าน คำถามคือ ตั้งงบประมาณไว้อย่างนี้ และจะจัดสรรให้ใคร อย่างไร มีการกระจายที่เป็นธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่คือ กระจายจากงบดำเนินการเป็นงบลงทุน เพื่อพัฒนาสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคล, การลงทุนกับบุคลากร จัดสรรงบโดยใช้อัตราที่เท่าเทียบกัน ในมหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคล เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ รวมถึง กระจายงบวิจัยจากส่วนกลางให้กับสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น เพื่อสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น ซึ่งเขาเข้าใจปัญหาดี รู้ว่าจะต้องแก้อย่างไร แต่วันนี้พวกเขามีโอกาสที่จะเข้าถึงได้ยากมากในการที่จะรับงบประมาณวิจัย เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อหาองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหานั้น” นายสุรวาท กล่าว