“บิ๊กตู่” ร่ายยาว2ชม. ปลุกเห็นชอบงบปี63 ตั้งงบขาดดุล วงเงิน3.2ล้านล้าน โต้กระจุกที่กห.

“บิ๊กตู่” ร่ายยาวเฉียด 2 ชม. “ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63” เผยกรอบวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ดำเนินนโยบายแบบขาดดุล ยัน ไม่เคยทำอะไรเพื่อตัวเอง รัฐบาลคำนึงประโยชน์ชาติ-ประชาชน ดึงดราม่า เห็นสายตาคนต่างจังหวัดแล้วจุกคอ วอน ส.ส.ศึกษาละเอียด-ให้ความเห็นชอบ อย่าดูแค่ยอดวงเงินแต่ละกระทรวง ยัน งบไม่ได้กระจุกที่กลาโหมอย่างเดียว

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีการตั้งงบประมาณเป็นจำนวนไม่เกิน 3,200,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,137,290,534,200 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 62,709,465,800 บาท เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

นายกฯกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่รัฐบาลนำเสนอวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้งบประมาณของแผ่นดินเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สามารถพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนโดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลก ที่คาดว่าจะสามารถปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564 ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2563 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยในส่วนของฐานะและนโยบายการคลังจากภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คาดว่ารัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 2,862,000 ล้านบาท เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน131,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,731,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

นายกฯกล่าวว่า เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม เพียงพอ และไม่ส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะจึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลโดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,731,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 469,000 ล้านบาท สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,917,357.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกัน เงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 6,418,318.7 ล้านบาท ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 512,955.1 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป้าหมายของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อให้การพัฒนาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการวางรากฐานเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่ากระทรวงและหน่วยรับงบประมาณต่างๆ จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 นโยบายสำคัญของรัฐบาลยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาและการจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ

นายกฯกล่าวว่า แนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่สำคัญ คือ 1.นำยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการบูรณาการในทุกมิติ เป็นกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการให้มีความเชื่อมโยง สอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน 2. ดำเนินภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการให้เกิดผลในปีแรก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาของประชาชน และวางรากฐานการพัฒนาประเทศสู่อนาคต รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ 3. ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นให้แก่ประชาชนด้านคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังระหว่างท้องถิ่น

นายกฯกล่าวว่า 4. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือ พิจารณานำเงินดังกล่าวมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรกควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ หรือหมดความจำเป็น เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาสนับสนุนนโยบายสำคัญหรือโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน มีความพร้อมในการดำเนินการสูง เพื่อแก้ไขปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัว รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ 2562 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ 5. ดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน

นายกฯกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,392,314.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 74.8 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 655,805.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.5 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 ซึ่งอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่ายที่กำหนดในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี คือ งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รัฐบาลได้จัดสรรจำนวน 518,770.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.2 ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของบุคลากรภาครัฐ 415,770.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงิน เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เงินสำรอง เงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ เงินสมทบลูกจ้างประจำ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ สำหรับงบประมาณอีก 103,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.2 ได้สำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ รวมทั้งส่งเสริมและเผยแพร่ประสบการณ์และองค์ความรู้ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพงานก่อสร้าง

นายกฯกล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ รัฐบาลได้จัดสรรจำนวน 1,131,765.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.4 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายจัดตั้งและตามที่ได้รับมอบหมายในเชิงนโยบายที่ต้องการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ รัฐบาลได้จัดสรรจำนวน 235,091 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 เพื่อดำเนินงานเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการในภาพรวมของประเทศ ได้แก่ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นต้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายบุคลากร รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 777,267.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.3 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐ ไม่รวมค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบุคลากรภาครัฐที่กำหนดไว้ในงบกลาง จำนวน 415,770.9 ล้านบาท สำหรับงบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน รัฐบาลได้จัดสรรจำนวน 202,268.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.3 งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรร จำนวน 272,127.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 182,956.7 ล้านบาท ส่วนงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 62,709.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9

นายกฯกล่าวว่า ในส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำแนกตามยุทธศาสตร์จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 428,190.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.4 เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคงโดยมุ่งเน้นการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ การสร้างความมั่นคงความปลอดภัย และความสงบสุขของประเทศ การสร้างบทบาทของไทยในอาเซียนและเวทีโลก รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ยืนยันว่างบประมาณดังกล่าวไม่ใช่อยู่ที่แต่ส่วนของกระทรวงกลาโหมเพียงอย่างเดียว มีการจำแนกตามแผนงานคือ 1.การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 5,351.9 ล้านบาท 2.การรักษาความสงบภายในประเทศ 34,774.2 ล้านบาท โดยเสริมสร้างความปรองดองภายในชาติ และการรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3.การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 10,865.5 ล้านบาท มีเป้าหมายในการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยเพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรองและบูรณาการฐานข้อมูลความมั่นคง ให้สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ 4.การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ 539.2 ล้านบาท 5.การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษา ผู้ติดยาเสพติด 5,319.1 ล้านบาท 6.การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 88,718.4 ล้านบาท 7.การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ 9,350.5 ล้านบาท 8.การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 15,324.4 ล้านบาท 9.การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 5,803.1 ล้านบาท 10.การสนับสนุนด้านความมั่นคง 1,574.6 ล้านบาท 11.การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 56,569. 7ล้านบาท โดยการสร้างความพร้อมด้านการป้องกันประเทศ การดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือในการดำเนินงานด้านความมั่นคงระหว่างประเทศไทยกับมิตรประเทศ และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 194,000 ล้านบาท

นายกฯ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 380,803.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว อย่างยั่งยืน สมดุลและมีเสถียรภาพ จำแนกตามแผนงาน คือ การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 97,389 ล้านบาท โดยการเชื่อมโยงระบบคมนาคมทางราง ทางน้ำ ทางถนนและทางอากาศให้ทั่วถึงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก งบประมาณทั้งสิ้น 17,009.1 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ งบประมาณทั้งสิ้น 6,954.6 ล้านบาท การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 7,371.4 ล้านบาท เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล 1,886.9 ล้านบาท การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 1,313.5 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค 11,542.3 ล้านบาท การเกษตรสร้างมูลค่า 7,791.3 ล้านบาท การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน 475.5 ล้านบาท การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล 1,737.2 ล้านบาท การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 4,350.2 ล้านบาท การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 20,082.2 ล้านบาท การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 78,563.9 ล้านบาท

นายกฯ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 571,073.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.8 ของวงเงินงบประมาณ จำแนกตามแผนงาน คือ 1. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ 1,305.2 ล้านบาท 2.การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค 463.9 ล้านบาท 3.การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม 609.9 ล้านบาท 4.การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต 18,052.4 ล้านบาท โดยจัดสวัสดิการสนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิด 0 – 6 ปี และขยายฐานรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ไม่น้อยกว่า 1,666,600 คน 5. การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี 38,884.4 ล้านบาท 6.การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา 2,970.6 ล้านบาท 7. การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 175.4 ล้านบาท 8. การสนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 16,365.5 ล้านบาท 9.การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 76,658.7 ล้านบาท

นายกฯกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 765,209.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จำแนกตามแผนงานคือ 1.การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 875.2 ล้าน 2.การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก 3,185.6 ล้านบาท 3.การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค 43.1 ล้านบาท 4.การเสริมสร้างพลังทางสังคม 12,482.9 ล้านบาท 5. การส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 308,275.3 ล้านบาท 6.การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ 24,000 ล้านบาท 7.การสร้างหลักประกันทางสังคม 274,531.7 ล้านบาท 8.การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา 83,141.1 ล้านบาท 9.การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 9.1 ล้านบาท 10.การสนับสนุนด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 41,648.7 ล้านบาท และ 11. การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 6,167.5 ล้านบาท

นายกฯกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเป็นจำนวน 118,700.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ โดยการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเลให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาหมอกควันและไฟป่า จำแนกตามแผนงานคือ 1. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 59,431.1 ล้านบาท 2. การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม 416.5 ล้านบาท 3. การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค 8,761.8 ล้านบาท 4. การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 3,900.8 ล้านบาท 4.การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 3,900.8 ล้านบาท 5. การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคม เศรษฐกิจภาคทะเล 287.2 ล้านบาท 6.การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สภาวะภูมิอากาศ 1,217.3 ล้านบาท 7.การสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 11,582.9 ล้านบาท 8. การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 14,162.3 ล้านบาท

นายกฯ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 504,686.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส รับผิดชอบและตรวจสอบได้ จำแนกตามแผนงาน คือ 1.การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ 957.1 ล้านบาท 2.การพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ 18,160 ล้านบาท 3.การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 1,252.3 ล้านบาท 4.การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 28.6 ล้านบาท 5.การสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 7,254.6 ล้านบาท 6.การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 381,427.9 ล้านบาท

นายกฯกล่าวว่า ทั้งนี้ รายการค่าดำเนินการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้จำนวน 431,336.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.5 ของวงเงินงบประมาณ สำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นและการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รายจ่ายงบกลาง จำนวน 96,500 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรงและภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ ตลอดจนชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพงานก่อสร้าง การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 272,127.1 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 182,956.7 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงิน รวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลัง รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว

นายกฯกล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่รัฐบาลได้แถลง เป็นเพียงส่วนสำคัญหนึ่งของกรอบแนวทางหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่จะต้องนำมาแถลงให้ทราบ สำหรับเอกสารประกอบได้มีการจัดทำให้เป็นไปตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 10 และมาตรา 11 ขอให้ทุกท่านลองอ่านดู เพราะเมื่อเช้าตนแบกมาสองลังใหญ่ ทั้งนี้ รัฐบาลเชื่อมั่นว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่นำเสนอแสดงให้เห็นถึงเจตนาของรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณ เป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของประเทศในทุกด้าน บนหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระยะ 20 ปี ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การใช้จ่ายงบกลาง ประกอบด้วย เงินเบี้ยหวัด เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินเดือนข้าราชการ เงินสำรองสมทบและชดเชยของข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ ตนถามว่า กฎหมายระบุไว้ตรงนี้ งบต่างๆเหล่านี้ต้องใช้งบกลาง ถ้างบกลางมี 5 แสนกว่าล้าน แต่งบเหล่านี้ใช้ไป 4 แสนกว่าล้านแล้ว ท่านจะไม่ให้เขาหรือ ส่วนที่เหลือ 1 แสนกว่าล้านไม่ใช่นายกฯ อนุมัติโครมๆ หรือให้ๆ ยืนยันว่าไม่มี ตนไม่เคยอนุมัติให้แบบนี้ การใช้งบกลางต้องทำแผนงานโครงการขึ้นมา แล้วพิจารณาในครม. ตนอนุมัติเองไม่ได้

“เงินในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ 100 ล้านบาท เอาไปจังหวัดนี้ เขาขอก็ให้ไป แต่ก็ต้องบริหารให้อยู่ทางโน้น การใช้จ่ายงบกลางเป็นแบบนี้ ขอให้เข้าใจด้วย งบเร่งด่วนน้ำท่วมอะไรต่างๆ เหล่านี้เรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หลายคนก็มี ผมได้ยินแว่บๆ เมื่อกี๊นี้ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่รู้หรือฝันก็ไม่รู้” นายกฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า วันนี้อยากจะฝากทุกท่านว่า กรุณาศึกษารายละเอียด ท่านศึกษามาอยู่แล้ว แต่อย่าศึกษาเฉพาะประเด็นที่จะสร้างความไม่เข้าใจต่อกัน ถ้าถามมา อธิบายมา ตนก็รับฟังและคิดว่ารัฐมนตรีทุกคนก็รับฟัง และยังมีการพิจารณาวาระสองต่อไป วันนี้อยู่ในวาระแรกเท่านั้นเอง ทั้งนี้ ขอร้องว่าอย่าไปดูเฉพาะยอดวงเงินของกระทรวงเขา จะต้องดูรายละเอียดข้างในว่ามีการทำงานอย่างไร ซึ่งตัวเลขทั้งหมดคือตัวเลข 3.2 ล้านล้านบาท ที่มีการแบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ งบกลางและงบต่างๆ ไปดูว่างบกระทรวงศึกษาธิการทำไมถึงน้อยลง ก็เพราะเอาไปเพิ่มให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม แล้วจะมาบอกว่างบการศึกษาลดลงได้อย่างไร ไปดูงบของกระทรวงกลาโหม ทำอย่างไรเขาซื้ออะไรแค่ไหน ตรงไหน

“ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สมาชิกผู้ทรงเกียรติจะให้การสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้เพื่อที่รัฐบาลจะยึดถือเป็นหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์แก่ชาติและประชาชนต่อไป ซึ่งการทุจริตก็เป็นอีกเรื่องไปตรวจสอบกันมา มีองค์กรต่างๆทั้งหมดที่ตรวจสอบ ซึ่งก็มีการตรวจสอบมาอย่างนี้ 5 ปีรัฐบาลที่ผ่านมาหรือรัฐบาลสมัยก่อนก็โดนทั้งนั้น แต่ชี้แจงได้ก็จบ ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย เจตนาของผม ไม่ได้จะทำอะไรเพื่อใคร ผมเห็นสายตาประชาชนเวลาไปเยี่ยมตามต่างจังหวัดบางทีก็จุกคอเหมือนกัน เขาไม่มีอาชีพและไม่รู้ว่าจะทำอะไร ซึ่งคนเหล่านี้มีจำนวนมาก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ ถ้าความมั่นคงไม่เกิดขึ้น ความมีเสถียรภาพไม่เกิด เศรษฐกิจก็พัฒนาไม่ได้ ก็เห็นตัวอย่างในต่างประเทศแล้ว เราไม่ต้องการเดินไปสู่จุดนั้น ตนก็หวังอย่างยิ่งว่าทุกท่านคงให้ความเห็นชอบ ก็แล้วแต่ท่านจะพิจารณา แต่กรุณาดูทั้งหมด ตนหวังว่าจะมีอะไรที่เป็นประโยชน์ ที่รัฐบาลจะสามารถทำงานให้ท่านได้ ตนต้องการแบบนั้น ตรงนั้นตรงนี้เป็นอย่างไรก็สอบถามกันมาได้หรือไม่ แทนที่จะมาว่ากันไปกันมา มันไม่เกิดประโยชน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ได้ปล่อยมุกสอบถามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า “ดีไหมครับ ดีนะ ตรงกลางพอได้ไหม ทางซ้ายโอเคนะครับ เราคนไทยด้วยกัน โครงการทั้งหมดก็ลงพื้นที่ของท่าน ไม่มีที่ไม่ลงไป อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณถ้าไม่เขียนแบบนี้ ก็เป็นแบบเดิม ก็ทำมากทำน้อยตรงไหนก็แล้วแต่ ไม่ต้องพูดตรงนี้ โอเคไหมจ๊ะ เดี๋ยวผมขอไปพักคอนิดหนึ่ง ในห้องรับรองตรงนี้ ใครจะพูดถึงผมก็พูดไปเลยนะครับ ผมฟังข้างนอกนี้ก่อน ขอพักสักครู่”