รมว.ศธ.ไม่หวั่นถูกซักงบ3.6แสนล.ปี’63 เรียกผู้บริหารติว-ลั่นพร้อมแจงทุกปัญหา

รมว.ศธ.ไม่หวั่นถูกซักงบ3.6แสนล.ปี’63 เรียกผู้บริหารติว-ลั่นพร้อมแจงทุกปัญหา

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการเตรียมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ว่า ตนได้เรียกผู้บริหารองค์กรหลัก และที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณไปติวเข้ม เพื่อรองรับการอภิปรายในเรื่องของงบประมาณของ ศธ. ซึ่งตนมั่นใจในแนวทางการทำงานที่ผ่านมาว่าจะสามารถตอบข้อกังขาเรื่องการใช้งบของ ศธ.ได้ ขณะเดียวกันตนมองว่าเป็นโอกาสที่ ศธ. สามารถทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เห็นถึงแนวทางข้างหน้าของศธ. ซึ่งตนจะถือโอกาสนี้ตอบคำถาม ข้อสงสัยทุกข้อ เบื้องต้นตนพอทราบประเด็นการอธิภายบ้าง และในบางเรื่อง ศธ.ก็ได้แก้ไขปัญหาไปแล้ว เช่น การแก้ปัญหากลุ่มลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนการปฏิบัติงานใสสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือครูธุรการ ส่วนเรื่องอื่นๆ ถ้ามีข้อติดใจ ก็พร้อมที่จะตอบทุกประเด็น จึงไม่กังวลในเรื่องนี้

“ขณะเดียวกันได้หารือกับผู้บริหารและหน่วยงาน ศธ. ถึงการวางแผนงบประมาณปี 2564 ที่ต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ ต้องตรงกับนโยบายของรัฐบาล และแนวทางการขับเคลื่อนของศธ. ซึ่งแผนงบประมาณปี 2564 นี้อาจจะต้องมีการปรับภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน และมีความเป็นเอกภาพในการลงทุนด้านการศึกษา ซึ่งทุกหน่วยงานในศธ. เข้าใจจุดนี้ และได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติอย่างดี เรื่องนี้อาจจะไม่เป็นแนวทางที่คุ้นเคย หรือปฏิบัติมาในอดีต แต่เราจะต้องลองปฏิบัติกันดู” นายณัฏฐพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส.ส.หลายคนให้ความเห็นว่า อยากให้ศธ.ได้รับงบมากกว่านี้ งบที่ศธ.ได้รับมาเพียงหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ ส.ส. อยากให้ศธ. ได้รับงบมากขึ้น ซึ่งในความจำเป็นที่จะใช้งบบูรณาการการศึกษาให้ทั่วถึงทั้งประเทศอย่างมีคุณภาพนั้น ต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้ เช่น ถ้าเราอยากให้เด็กทุกคนได้ใช้คอมพิวเตอร์ 1 คน ต่อ 1 เครื่อง ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ตนไม่อยากเดินไปถึงจุดนั้นทันที เพราะศธ.ต้องมีความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยี มีระบบและโครงสร้างที่แข็งแรง มีความเข้มข้นในเรื่องข้อมูลก่อนถึงจะมาพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าจะเร่งรัดเรื่องเหล่านี้ให้เสร็จภายในกี่ปี เป็นต้น เพราะตนไม่อยากใช้งบประมาณที่ยังไม่มีความจำเป็นในทันที แต่การศึกษาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บางอย่างถ้าเราช้าในเรื่องการลงทุน เราอาจจะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ตนมองว่า ศธ.มีแนวทางชัดเจนที่จะทำให้ผู้แทนของประชาชนมั่นใจว่าเราตั้งใจขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาอย่างจริงจัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศธ.จัดทำคำของบประมาณ ในงบประมาณปี 2563 จำนวน 368,660,344,500 บาท ลดลง 86,746,900 บาท จากเดิมงบประมาณปี 2562 จำนวน 369,047,091,400 บาท แบ่งเป็น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) จำนวน 51,195,790,400 บาท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 287,902,325,300 บาท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 26,044,471,000 บาท สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จำนวน 211,752,900 บาท สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จำนวน 1,595,705,300 บาท สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) 130,453,200 บาท สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จำนวน 205,278,300 บาท โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จำนวน 323,476,800 บาท สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จำนวน 702,934,600 บาท สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จำนวน 348,156,700 บาท