บอร์ดรถไฟโต้ “โฮปเวลล์” กางคำสั่งปว.281 ฟ้องกลับ ยืดเวลาจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล้าน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ดรถไฟ) กล่าวว่า ที่ประชุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบความคืบหน้าคดีโฮปเวลล์ คณะทำงานที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานพบหลักฐานที่จะสามารถฟ้องแพ่ง เพื่อเอาผิดบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด คู่สัญญาในขณะนั้นได้

โดยพบว่าการขออนุมัติโครงการ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ดำเนินการตามประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281) ลงวันที่ 24 พ.ย. 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำกับการทำธุรกิจของคนต่างด้าว สำหรับหลักฐานที่พบคือ ไม่มีการขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่องดเว้นสัดส่วนการถือหุ้นคนต่างด้าวที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด

ที่ประชุมจึงมีมติในเรื่องนี้ 2 ประเด็นคือ 1. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นำหลักฐานใหม่ที่พบยื่นฟ้องดำเนินคดีกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และ 2. ให้ ร.ฟ.ท.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้งดการบังคับคดีที่จะต้องชำระค่าชดเชยจำนวน 12,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี จากการแพ้คดีโฮปเวลล์เมื่อ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีกำหนดต้องจ่ายวันที่ 19 ต.ค.นี้

ทั้งนี้ จะให้สำนักอาณาบาล ร.ฟ.ท. หารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการในคดีนี้ให้เป็นไปในทางเดียวกัน ส่วนจะฟ้องร้องได้เมื่อไหร่ จะเร่งดำเนินการให้ทันก่อน 19 ต.ค.นี้ และที่ประชุมไม่ได้หารือเรื่องการหาเงินมาจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า จากการสอบถามเพิ่มเติมกับนายจิรุตม์ ได้ระบุว่า คำสั่งคณะปฏิวัติดังกล่าวสามารถเอามาเป็นหลักฐานได้จริงหรือไม่ เพราะตัวกฎหมายเองก็ไม่มีสภาพบังคับแล้ว นายจิรุตม์ตอบว่า สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวได้แปลงเป็น พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542 ซึ่งมีสภาพบังคับใช้อยู่ถึงปัจจุบัน ส่วนถ้าจะฟ้องร้องจะต้องเริ่มนับอายุความของคดีเมื่อไหร่ เพราะช่วงเวลาที่ตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็นานกว่า 20 ปีแล้วนั้น ก็ได้มอบฝ่ายกฎหมายดำเนินการตรวจสอบแล้ว