คำต่อคำ! “ปิยบุตร” อภิปราย พรก.โอนกำลังพลฯ สู่ 70 เสียงเห็นต่าง

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อภิปรายร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย โดยกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ มีประเด็นกฎหมายในรัฐธรรมนูญต้องอภิปรายว่า พ.ร.ก. คือ กฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ครม.หรือฝ่ายบริหารมีอำนาจในการตราและใช้พลางก่อน ให้มีผลเช่นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งหลังจากนั้น เมื่อเปิดสภาต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเห็นชอบ อนุมัติให้มีผลต่อไป ดังนั้น การตรา พ.ร.ก. จึงเป็นข้อยกเว้น ยอมให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจออกกฎหมายใช้ก่อน แล้วให้รัฐสภารับรองทีหลัง แต่เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารใช้ข้อยกเว้นอย่างฟุ่มเฟือยพร่ำเพรื่อ และไม่ให้นานวันเข้าจะฉวยใช้อำนาจนี้แทนฝ่ายนิติบัญญัติหรือหลีกเลี่ยงฝ่ายนิติบัญญัติไป ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงกำหนดเงื่อนไขการตราไว้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตาม ม.172 ซึ่งวรรคแรกระบุว่า การที่ ครม.จะถวายคำแนะนำเพื่อให้มีการตรา พ.ร.ก. ต้องเป็นไปด้วย 4 เหตุ

กาง รธน.- ถามการตราเข้าเงื่อนไข ม.172 หรือไม่

นายปิยบุตร กล่าวว่า 1.เพื่อประโยชน์ในอันที่รักษาความปลอดภัยประเทศ 2.เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ 3.เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษามั่นคงเศรษฐกิจ 4.เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และนอกจากเหตุนี้ ในมาตรา 172 วรรค 2 ระบุว่า การตราตามวรรค 1 ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อ ครม. เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ และเมื่อตรา ขึ้นมาแล้ว เมื่อเปิดสภาแล้วต้องเข้าสภาและให้ผู้แทนลงมติด่วนว่าจะอนุมัติหรือไม่ และยังมีช่องทางที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรที่่สามารถตรวจสอบเรื่องนี้ได้ นั่นคือกำหนดให้ ส.ส. จำนวน 1 ใน 5 สามารถเข้าชื่อส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

” ส.ส มี 2 ช่องทางหลักในการตรวจสอบการใช้อำนาจตรา พ.ร.ก. ซึ่งแตกต่างในรายละเอียด คือ 1.ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องทางกฎหมายว่า เข้า 4 เหตุหรือไม่ แต่ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้นั้น เป็นดุลยพินิจของ ครม. และ สภาผู้แทนราษฎรก็ใช้ช่องทางที่ 2 นี้ ในการตรวจสอบการใช้อำนาจ ดังเช่นที่ตนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายในวันนี้ นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างสภาผู้แทนราษฎร กับ ครม. ตามระบบรัฐสภา คือกระบวนการทางกฎหมาย ตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน การอภิปรายนี้คือการตรวจสอบการใช้อำนาจของ ครม. โดย พล.อ ประยุทธ์ ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” นายปิยบุตร กล่าว

ไม่พบการชี้แจงเหตุจำเป็นเร่งด่วนโดย ครม.

นายปิยบุตร กล่าวว่า ถ้าลองพิจารณาในการตรา พ.ร.ก. ซึ่งเขียนไว้ในตอนท้ายว่า เพื่อสนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการ ถวายอารักขา และถวายพระเกียรติ และการรักษาความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และ พระราชอาคันตุกะ รวมทั้งให้การปฏิบัติภารกิจทั้งปวง ตามพระราชอัธยาศรัย และตามพระราชประเพณี เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้ ซึ่งจากเหตุผลนี้ นั่นเท่ากับ ครม.อ้างเรื่องความปลอดภัยของประเทศ และยืนยันว่านี่คือความเร่งด่วน ซึ่งในเรื่องความปลอดภัยของประเทศนั้น ถูกต้องว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ การถวายความปลอดภัยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความปลอดภัยของประเทศ เรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหา แต่ประเด็นที่มีปัญหา คือ กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตรงนี้มีปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ

“คำว่าฉุกเฉิน แปลว่า ที่เป็นไปโดยปัจจุบันทันด่วน และต้องรีบแก้ไขโดยพลัน ส่วนคำว่าจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หมายความว่า ต้องรีบทำทันที ถ้าไม่ทำจะเกิดผลร้ายแรงทันที หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในหมายเหตุท้าย พ.ร.ก. ฉบับนี้ ยืนยันว่า เป็นไปเพื่อสนับสนุนภารกิจส่วนราชการในพระองค์ เกี่ยวกับเรื่องการถวายอารักษา ถวายพระเกียรติและรักษาความปลอดภัย นี่คือวัตถุประสงค์กฎหมาย ปัญหา คือ ถ้าหาก ครม.ยืนยันว่าการตรา พ.ร.ก.เป็นเหตฉุกเฉิน มีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ครม.จำเป็นต้องแสดงข้อเท็จจริงให้สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ทราบว่า ณ วันที่ท่านออก พ.ร.ก. นั้น มีเรื่องอะไรกระทบการถวายอารักขา การถวายพระเกียรติ และการรักษาความปลอดภัย มีเรื่องอะไรฉุกเฉิน หรือทันทีทันใด มีเหตุใดจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก. ฉบับนี้ และหากไม่ตรา จะเกิดผลกระทบร้ายแรง แต่ปรากฏ ครม. ไม่ได้ชี้แจง” นายปิยบุตร กล่าว

 

‘พิทักษ์สถาบัน’ เป็นหน้าที่รัฐ-กฎหมาย กห. ก็ระบุชัด

นายปิยบุตร กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2560 มาตรา 8 (2) ระบุว่า กระทรวงกลาโหม มีอำนาจหน้าที่ ปกป้องพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนสนับสนุน ภารกิจสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จากกฎหมายนี้ยืนยันว่า กระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่จัดการเรื่องพิทักษ์รักษา ปกป้องสถาบัน ตลอดจนสนับสนุน นี่เป็นภารกิจหน้าที่มีอยู่แล้ว มิพักกล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่กำหนดหน้าที่ของรัฐไว้ด้วย มิพักกล่าวถึงการที่ ครม. ชุดนี้ในในวันแถลงนโยบายสำคัญ ก็ยกเป็นข้อ 1 เรื่องพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ การเทิดทูน ชูพระเกียรติ และยังรวมถึงการที่นายทหารถวายสัตย์ปฏิญาณไว้เช่นไร ท่านผ่านพระราชพิธีนี้แล้วทั้งสิ้น ดังนั้น กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่อยู่แล้ว สั่งการหน่วยงานในสังกัดท่านได้ ดังเช่นที่รัฐบาลที่ผ่านๆ มาได้เคยปฏิบัติ

อัด “ประยุทธ์” เสพติดใช้อำนาจพิเศษ -หวั่น พรก.เป็น ม. 44 จำแลง

นายปิยบุตร กล่าวว่า เรื่องนี้มีปัญหาการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีซึ่งคุ้นชินกับการมีอำนาจพิเศษตาม ม.44 ซึ่งใช้มาตลอด 5 ปีเศษ ออกมาจำนวนมากแล้วมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ออกมาแก้ แต่วันนี้เข้าสู่ระบบปกติแล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 ใช็เต็มรูปแบบ เรามีการเลือกตั้งแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีมนต์วิเศษเหมือน ม.44 อีกแล้ว และที่สำคัญท่านมีสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากประชาชน และเขาไม่ใช่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาท่าน การใช้อำนาจต้องระมัดระวัง รอบคอบกว่าเดิม ตนเห็นว่าการตรา พ.ร.ก.เป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ ครม. ตาม ม.172 มีข้อจำกัด พล.อ.ประยุทธ์จะใช้ ม.172 เสมือน ม.44 ไม่ได้ ดังนั้น หากปล่อยผ่านเรื่องนี้ เท่ากับเราสนับสนุนนิสัยการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จะสร้างบรรยากาศผิดๆ ว่านายกรัฐมนตรีอยากได้อะไร ขี้เกียจรอสภา ไม่อยากมาชี้แจงสภา ก็ใช้อำนาจตรา พ.ร.ก นานวันเข้าก็จะกลายเป็น ม. 44 จำแลง

“ทั้งการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบตาม ม. 161 การแถลงนโยบายโดยไม่แจกแจงที่มาของรายได้ ตาม ม. 162 และมากระทั่้งการออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ ที่ไม่เป็นตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ม.172 ทั้งหมดนี้ เป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งในอดีตท่านได้รับการยกเว้นจากรัฐธรรมนูญเสมอ แต่วันนี้ สภาผู้แทนราษฎรของเราจะยินยอมให้เป็นข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกหรือ เพราะนี่คือการแสดงอาการของโรคของพล.อ.ประยุทธ์ นั่นคือโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ” นายปิยบุตร กล่าว

ชี้ “ประยุทธ์- ครม.” ต้องรับผิดชอบไม่ปฏิบัติตาม รธน.

นายปิยบุตร กล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข รับรองต่อเนื่องเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญ เนื้อหาสำคัญ คือประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำกระทำอะไรผิด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิดชอบ แต่รัฐมนตรี ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มิใช่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ และไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 3/2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื้อหาคำวินิจฉัยนั้น ยืนยันว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นกลางทางการเมือง และใช้คำว่า “ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง” ซึ่ง หนังสือ ตำราหลายเล่มนักวิชาการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ หลายท่านก็อยู่ใน ครม. นี้ก็เขียนไว้ พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง ดังนั้น ครม. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

“พรรคอนาคตใหม่ และผมยึดมั่นในระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การอภิปรายของตนเป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจของสภาตามรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร รักษาระบบรัฐสภา และที่สำคัญที่สุดนี่คือการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การแสดงออกซึ่งความจงรักดีมิใช่ชี้หน้าด่าคนอื่นว่าไม่จงรักภักดี การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีมิใช่การใช้อำนาจกระทำการใดเพื่อทำให้คนคิดว่าพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ ด้วยเหตุผลนี้ พ.ร.ก.ที่ตราขึ้นโดยไม่เป็นตาม รัฐธรรมนูญ ม.172 ไม่เป็นเรื่องจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน และส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้ ผมในฐานะ ส.ส.เป็นผู้แทนของราษฎร มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่สามารถลงมติอนุมัติได้” นายปิยบุตร กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 366 เสียง ไม่เห็นด้วย 70 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง โดยในจำนวน 70 เสียงที่ไม่เห็นด้วย มาจากส.ส.พรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด