กลุ่มเกษตรค้านมติคณะทำงาน 4 ฝ่าย จ่อยื่นศาลปกครองขอคุ้มครองฉุกเฉิน ปมแบน 3 สารพิษ

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม สมาคมการค้านนวัตกรรมเพื่อการเกษตร ร่วมกับตัวแทนเกษตรกรพืชเศรษฐกิจหลัก สื่อมวลชนเกษตร แถลงข้อกังวล ผลกระทบ และข้อเสนอจากภาคเกษตรกรรม จากการยกเลิกสารเคมีคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโซเฟต

ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า เมื่อมีการพูดคุยกับเกษตรกรเห็นว่ามีความเดือดร้อนและเห็นหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เนื่องจากเกษตรกรรมคือรายได้หลักของประเทศ การเสนอให้แบนสารเคมี 3 ชนิดกำลังทำลาย 1 ในปัจจัย 4 หลักในการประกอบอาชีพของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องอยู่กับสารเคมีทางการเกษตร การประกาศยกเลิกทันทีภายในวันที่ 1 ธันวาคมนั้น คณะทำงานได้พิจารณาถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการที่เกษตรกรยังไม่มีสารใดมาทดแทนหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ไม่ให้ระยะเวลาในการจัดการสต๊อกสินค้า หากคำนวณงบประมาณที่รัฐบาลจะต้องใช้จ่ายในการจัดการสินค้าคงค้างดังกล่าวที่มีมากถึง 30,000-40,000 ตัน จะต้องมีค่าทำลายสารเหล่านี้ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ค่าขนย้ายและดูแลรักษาที่ภาครัฐต้องเช่าโกดังเก็บสินค้าอีกกว่า 5,050 ล้านบาท ค่าชดเชยให้เกษตรกรประมาณ 3 เท่าของราคาสินค้า คาดว่าขณะนี้ในมือเกษตรกรมีอยู่ประมาณ 10,000 ตัน และถ้ารัฐต้องจ่าย 500 บาทต่อ 1 กิโลกรัม เท่ากับว่าจะต้องชดเชยถึง 500,000 บาท ต่อ 1 ตัน ดังนั้น หากรัฐจะมีมติยกเลิกจริงควรจะต้องให้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นทำ เพื่อให้สินค้าที่คงค้างอยู่หมดไปและไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปกับการทำลายสารเคมีที่ถูกประกาศยกเลิก

“หากพูดถึงขั้นตอนในการประกาศยกเลิกสารเคมี คือ ลด ละ เลิก ขณะนี้อยู่ในช่วงของการลด คือการจำกัดการใช้ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเกษตรได้มีการทำการสร้างความรู้ความเข้าใจ การฝึกอบรมและทดสอบ การใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างถูกต้องและถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภค โดยได้จัดให้มีการฝึกอบรมร้านค้า เกษตรกร และผู้รับจ้าง ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง จะให้ละ เลิก ได้ก็ต่อเมื่อมีสารทดแทนแนะนำให้เกษตรกร ซึ่งผู้นำเข้ายินดีที่จะปฏิบัติตามผลการพิจารณาของภาครัฐที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการทดสอบเพื่อหาสารที่ทดแทนได้อย่างแท้จริง โดยมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพที่เท่าเทียมหรือดีกว่า และมีราคาที่ไม่เพิ่มต้นทุนในการผลิตให้แก่เกษตรกร กระบวนการยกเลิกสารเคมีอันตรายนี้จึงจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์และเป็นธรรม” ดร.วรณิกากล่าว

ดร.วรณิกากล่าวว่า เราเคารพในการตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญสูงสุด สำหรับการตัดสินใจว่าสารเคมีดังกล่าวเป็นตัวร้ายจริงอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าคำตัดสินวันที่ 22 ธันวาคมนี้จะเป็นอย่างไรก็น้อมรับ แต่อยากให้ผู้ที่ออกมาเสนอให้แบน 3 สารเคมีไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช่เทรนด์โดยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าผู้ใช้จริง หรือเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักรู้ว่าสารตัวไหนอันไหนใช้อย่างไร หากตัดสินว่าแบนจริง ภาคเอกชนก็ต้องปรับตัว แต่เหตุใดไม่มองประเทศอื่นที่แบนว่าใช้วิธีจัดการอย่างไร ให้ระยะเวลาเท่าไหร่ จนสารเหล่านี้หมดไปเอง

“ที่ออกแสดงจุดยืนเช่นนี้ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขณะนี้ไม่เป็นธรรม การต่อและการขึ้นทะเบียนทางการเกษตรถูกระงับโดยสิ้นเชิง ไม่เป็นธรรมกับเจ้าของสารชนิดอื่น ภาคการส่งออกต่างประเทศส่งออกไม่ได้ ผลกระทบจึงไม่ใช่เพียงเกษตรกรอยู่ไม่ได้ แต่ภาพใหญ่คือเศรษฐกิจการเกษตรกำลังจะพังลงไปตรงหน้า ต้องคุยกันว่าจะหาทางออกอย่างไรที่ดีที่สุด อยากให้รับฟังตัวแทนภาคเกษตร เพื่อจะได้เห็นมุมมองที่ชัดขึ้น” ดร.วรณิกากล่าว

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 2101/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ต่อการยกเลิก 3 สารเคมีเกษตรนั้น คณะทำงานนำโดยกระทรวงเกษตรฯได้มีมติยกเลิกและจะนำเข้าเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เกษตรกรกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก ขอคัดค้านมติดังกล่าว พร้อมระบุว่า การแต่งตั้งคณะทำงานฯ ขาดความชอบธรรมโดยมีแต่กรรมการที่คัดค้านการใช้สารเคมีเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก และไม่มีตัวแทนผู้นำเข้าอย่างครบถ้วน ทางกลุ่มต้องการให้ทบทวนการพิจารณามติยกเลิก โดยให้ใช้ข้อเท็จจริง ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์มากกว่าการใช้ข้อมูลบิดเบือนจากเอ็นจีโอ โดยอ้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ขณะที่เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมอย่างมันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม ยางพารา และข้าวโพด ยังมีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสารใดที่มีคุณสมบัติและราคาเทียบเท่ามาทดแทนได้โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืชอย่างพาราควอต

“กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชอุตสาหกรรมเตรียมจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอคุ้มครองฉุกเฉิน หากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติพิจารณาแบนสารเคมีทั้งสามชนิด เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของเกษตรกร เพราะยืนยันได้ว่าข้อมูลของภาคประชาชนที่นำออกมาเผยแพร่เป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มได้มีการเสนอข้อมูลผลงานวิจัยไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว ไม่ยอมรับมติของคณะทำงาน 4 ฝ่าย เพราะไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงแต่เป็นการอุปโลกน์ เพื่อมากดดันการทำงานของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งนี้ เกษตรกรคือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่กลับไม่มีการปรึกษาขอความเห็นจากเกษตร ผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ส่วนสารเคมีที่คาดการณ์ว่าจะนำมาใช้ทดแทนพาราควอตและไกลโฟเซตก็เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ที่มีราคาสูงกว่าถึง 6 เท่า ขณะเดียวกันประสิทธิภาพต้องใช้เพิ่มขึ้น 1.5-2 เท่า เท่ากับเกษตรกรมีต้นทุนเพิ่ม 12-14 เท่าตัว เกษตรกรจะออกมาต่อสู้เมื่อได้รับความอยุติธรรม เรารับกรรมมาโดยตลอด ต่อรองไม่ได้ ถ้าทำอะไรโดยไม่มีความเป็นธรรม ฐานรากพังตึกพัง ฐานรากพังประเทศพัง” นายมนัสกล่าว

นายเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการวารสารเคหะการเกษตร กล่าวว่า จากการทำสื่อและอยู่กับภาคการเกษตรกว่า 43 ปี ชีวิตจิตใจวิญญาณคือเกษตร ในฐานะตัวแทนเกษตรกรเห็นว่าด้านปัจจัยการผลิดจำเป็นสำหรับภาคการเกษตร มีหลายประเทศไม่พอกิน จึงคิดเรื่องพืชไฮบริด หรือพืชลูกผสม ซึ่งให้ผลผลิตสูงแต่ต้องการปุ๋ยมากขึ้น ทำให้หลายประเทศมีอาหารพอกิน โดยเฉพาะอินเดีย รัชกาลที่ 5 ทรงส่งนักวิชาการไปเรียนอเมกาเพื่อตั้งสถานีข้าว ส่งออกอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันหลาย 10 ปี การพัฒนาโดยเฉพาะข้าวมีแต่พันธุ์ผสม เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมี เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ปัญหาหลักของการทำสวนคือขาดแคลนแรงงานเกษตกร คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำ ถ้าเลิก 3 สารเคมีนี้เราจะเป็นง่อย เพราะคือเครื่องมือกำจัดวัชพืชที่ดีและประหยัดต้นทุนมากที่สุด เรื่องแมลง สารเคมีใช้สลับกันได้ แต่ยากสุดคือวัชพืชที่ซับซ้อน ต้องเข้าใจการจัดการ สารพาราควอตเมื่อพ่นไปแล้ววัชพืชตายไว ประสิทธิภาพสูง ซึ่งการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรมีข้อจำกัดในหน้าฝนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ สารคลอร์ไพริฟอสเลิกได้ เกษตรกรไม่มีปัญหา เพราะมีสารทดแทนเพียงพอ แต่พาราควอตและไกลโฟเซตควรเลิกอย่างมีขั้นตอน ดังที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายระบุไว้ หากยกเลิกทันทีจะกระทบต่ออาชีพหลักของเกษตรกร

นายภมร ศรีประเสริฐ ตัวแทนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง กล่าวว่า น่าเป็นห่วงพี่น้องเกษตร โรงแป้งเพิ่มขึ้น ต้องการผลผลิต ถ้าเกษตรกรไม่มีเครื่องมือเชื่อว่าจะมีปัญหา รัฐบาลที่ผ่านมาบอกว่าคนไทยจะอยู่ได้ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลการผลิต แต่เมื่อแบนสารเคมี ต้นทุนจะเพิ่ม ซึ่งเกษตรกรต้องจายแรงงานเท่าเดิมจึงไปต่อไม่ได้ ดังนั้น การแบน 3 สารเคมีจะเกิดปัญหาในการทำอาชีพอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน โอกาสที่จะขาดทุนหรือล้มละลายมีมาก ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซียเหมือนเรา แต่ของเราแพงขึ้น จะแข่งขันกับต่างประเทศได้หรือไม่ จะเป็นเบอร์ 1 ของโลกต่อได้หรือไม่ แทนที่รัฐบาลจะมาช่วย กลับทำสวนทางกัน อย่ารังแกเกษตรกร ทุกคนหาเสียงว่าจะช่วยเกษตรกร แต่วันนี้เป็นรัฐมนตรีแล้วประเทศไทยต้องเดินต่อให้ได้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำมากกว่าการแบนสารเคมี ซึ่งเป็นเครื่องมือของเกษตรกรในการประกอบอาชีพ ดูให้ดีว่าอะไรควรทำก่อนหรือไม่

ด้านนายศิลป์ชัย ตระกูลทิพย์ ประธานชมรมผู้ปลูกมะม่วงเนินปราง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตนทำสวน ฉีดยาด้วยตนเองตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 รู้ว่าสารเคมีที่ใช้มีอันตราย จึงป้องกันตั้งแต่หัวจรดเท้า จนถึงตอนนี้อายุ 70 ปียังไม่เป็นอะไร ถ้าเราป้องกันตัวดีก็ใช้ได้ การใช้เครื่องตัดหญ้า ถ้าใช้แรงงานถาง อย่างเก่ง 1 วันได้ 2 งาน ต่อมาใช้รถตัด 1 ได้ 1 ไร่ เร็วขึ้นแต่สิ้นเปลืองน้ำมันและต้องจ้างแรงงาน กว่าจะมีเครื่องตัดเกษตรกรใช้เวลาเก็บเงินกว่า 10 ปี เมื่อใช้เครื่องพ่นยาฆ่าหญ้า หญ้าอยู่ข้างล่าง ต้องใช้ไกลโฟเซตจึงจะเข้าถึง ยื่งหน้าฝนวัชพืชยิ่งขึ้นเร็ว เกษตรกรไม่มีเวลาสร้างผลผลิต แค่ตัดแค่วัชพืชก็หมดเวลาแล้วเพราะตัด 15-20 วันก็ต้องตัดใหม่ แต่ถ้าใช้สารเคมีกำจัด 2-3 เดือน จึงใช้อีกครั้ง สามารถช่วยเกษตรกรได้ บางจุดรถตัดไม่ได้ต้องใช้พาราควอต เป็นการใช้เฉพาะอย่าง ฉีดถึงโคน ไม่ต้องถาง และตายเฉพาะสีเขียว ไม่กระทบต้นไม้ที่เป็นน้ำตาล และผลผลิตจะดีขึ้นเพราะไม่เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง