เครือข่ายปชช.ยื่นหมื่นชื่อ ชงร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ชูอายุ 60 ถ้วนหน้า 3 พันบาท/เดือน

วันที่ 16 ตุลาคม 2562 เว็บไซต์โครงการกฎหมายเพื่ออินเตอร์เน็ตประชาชนหรือไอลอว์ รายงานว่า ณ อาคารรัฐสภาเกียกกาย องค์กรภาคประชาชนนำโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มาที่อาคารรัฐสภาเพื่อยื่นรายชื่อ “ผู้ริเริ่ม” และหลักการสำคัญ สำหรับการใช้สิทธิเข้าชื่อประชาชนให้ครบ 10,000 คน เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ

โดยเครือข่ายภาคประชาชนที่มาร่วมกันวันนี้ เช่น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้ป่วยไตวาย เครือข่ายผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เครือข่ายคนไร้บ้าน เครือข่ายสลัมสี่ภาค กลุ่ม We Fair ฯลฯ

นิมิตร์ เทียนอุดม หนึ่งในผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายอธิบายว่า ปัจจุบันนี้ประชาชนชาวไทย 48 ล้านคน ไม่มีหลักประกันใดๆ ในชีวิต อ้างอิงจากคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ซึ่งคนเหล่านี้เมื่ออายุเกิน 60 ปี และไม่มีงานทำก็ไม่มีรายได้อะไรเลยนอกจากเบี้ยยังชีพ 600 บาท

สิ่งที่เรากำลังจะเสนอเปรียบเหมือน “ปิ่นโตเถาที่หนึ่ง” อย่างน้อยเพื่อให้คนที่ได้รับสวัสดิการเหล่านี้มีโอกาสหลุดพ้นจากความยากจนเรื้อรัง ถ้าหากใครได้ทำงานและได้รับสวัสดิการ เช่น ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ก็จะได้ปิ่นโตเถาที่สอง และถ้ามีเงินเก็บ มีฐานะดี ก็ถึงจะมีปิ่นโตเถาที่สาม คือ ระบบประกันสุขภาพเอกชนที่ดูแลตัวเองได้

นิมิตร์ กล่าวด้วยว่า หลักการที่ต้องการเสนอในกฎหมายฉบับนี้ คือ ให้คนอายุ 60 ปีทุกคนได้รับ “บำนาญ” แบบถ้วนหน้า โดยไม่ต้องถามกันใหม่ว่า ใครจะได้รับบ้าง อย่างน้อยเท่ากับค่าเฉลี่ยเส้นความยากจน คือ ประมาณสามพันบาทต่อเดือน ส่วนใครที่ได้รับสวัสดิการทางอื่นอยู่แล้วก็ยังได้รับต่อไป

สิ่งที่เสนอวันนี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ถ้าประสบความสำเร็จแล้วจะเป็นผลดีกับทุกคน หลังจากนี้ต้องช่วยกันติดตามด้วยว่า มีนักการเมืองคนไหน และพรรคไหน พร้อมที่จะสนับสนุนให้ประชาชนมีหลักประกันในชีวิต มี “ปิ่นโตเถาที่หนึ่ง” บ้าง และมีใครบ้างที่ไม่สนับสนุน

สำหรับคำถามที่ว่า จะเอางบประมาณมาจากไหน นิมิตรตอบว่า นี่เป็นกระบวนการชวนคิดในเรื่องการจัดสรรงบประมาณจากภาษี ถ้าหากเราคิดนโยบายแจกเงินเป็นหมื่นล้าน “ชิม ช้อป ใช้” และเรายังมีเงินเบี้ยผู้สูงอายุอีกหกหมื่นล้านต่อปี ถ้าจะเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ค่อยๆ สะสมและจัดสรรงบประมาณส่วนเกินจากส่วนอื่นๆ มา เพราะการสร้างหลักประกันด้านรายได้ของประชาชน จริงๆ แล้วคือเรื่องความมั่นคงของประเทศ

ด้านอภิวัฒน์ กวางแก้ว กล่าวว่า ข้อเสนอตามร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ คือ “เปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า” เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของผู้สูงอายุ หรือเรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องการสร้างหลักประกันร่วมกันของทุกคน หลังจากที่เราทำงานเลี้ยงประเทศมาทั้งชีวิต ภาษีที่เราได้เลี้ยงประเทศก็จะได้หลักประกันให้เราเมื่ออายุ 60 ปี จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่ต้องเป็นภาระของใคร

ขณะที่ สมบูรณ์ อุทัยเวียงกุล เลขานุการของประธานรัฐสภา เป็นตัวแทนมารับหนังสือในวันนี้ พร้อมชี้แจงว่า เมื่อรับเอกสารในวันนี้แล้วก็จะเป็นขั้นตอนที่ประธานสภาจะวินิจฉัยว่า กฎหมายนี้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอหรือไม่ เมื่อประธานสภาวินิจฉัยแล้วก็จะแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการรวบรวมรายชื่อให้ครบต่อไป

สมบูรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า ความคิดเรื่องการให้เบี้ยผู้สูงอายุแก่ประชาชนนั้นเริ่มตั้งแต่สมัยที่ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาคนปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการขึ้นเบี้ยให้ในยุคที่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง ได้รับเบี้ยไม่ต่ำกว่าคนละสามพันบาท”

ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนได้เริ่มรวบรวมรายชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อมาระยะหนึ่งแล้ว และตั้งเป้าหมายว่าจะรวบรวมรายชื่อให้ครบ และนำรายชื่อทั้งหมดมายื่นต่อสภาในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562

สำหรับผู้ที่เห็นด้วยในหลักการและต้องการเป็นหนึ่งในรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มและปฏิบัติตามขั้นตอนได้ที่ https://t.co/L3xnLVnnWh