“สุชาติ” ซัด ร่างงบฯปี 63 เป็นงบ “ของศักดินา โดยศักดินา เพื่อศักดินา” ปชช.เสียภาษีแต่ไม่ได้ประโยชน์

เมื่อวานนี้ (15 ตุลาคม 2562) ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับเชิญจากคณะกรรมการญาติพฤษภาคม 35 และสภาที่ 3 ไปร่วมเสวนาในหัวข้อ “งบประมาณพัฒนาประเทศได้จริงหรือ” เมื่อ 15 ตุลาคม 2562 ณ.ห้องรัตนา โรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน พร้อมตั้งประเด็นที่น่าสนใจ หรือ ชวนให้คิดไว้ รวม 10 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นที่หนึ่ง งบประมาณ เป็นการเก็บภาษีประชาชนมาเพื่อใช้จ่ายตามที่สัญญากับประชาชนไว้ หากจะถามว่าประชาชนได้อะไร​ พอใจไหม​ ก็ต้องพูดว่าประชา​ชนเสียภาษีมากไป​ แต่ได้รับบริการไม่คุ้มค่า​ รัฐบาลเห็นประชาชนเป็นลูกไล่ ไม่เห็นประชาชนเป็นนาย เป็นเจ้าของประเทศ หรือ เป็นเจ้าของเงิน​ ดังนั้น จึงควรลดการกู้เงิน​ หรือลดภาษี แล้วลดงบประมาณลง ให้ประชาชนใช้เงินเขาเองให้มากขึ้น

ประเด็นที่ สอง รัฐบาลนี้ทำลายความเชื่อมั่น​ เพราะสืบทอดอำนาจปฏิวัติมา​ และยังมีพวกออกมาข่มขู่ประชาชนบ่อยๆ จึงไม่มีทางที่จะดึงความเชื่อมั่นได้​ ระบบเศรษฐกิจไทย จึงตกต่ำอย่างมาก นอกจากนี้ รัฐยังใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ในขณะที่ประชาชนไม่มีจะกิน​ แต่รัฐบาลเอาเงินประชาชนไปซื้ออาวุธ ไปซื้อเรือดำน้ำ ฯลฯ

ประเด็นที่สาม รัฐบาล จึงควรยลดภาษีลงเพื่อให้เงินอยู่ในกระเป๋าประชาชน หรือ ลดเงินกู้ลงจาก 4.69​ แสนล้าน แล้วลดรายจ่ายของรัฐบาลลง เพื่อให้รัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเด็นที่สี่ ต้องลดรายจ่ายกลาโหม​ รายจ่ายซื้อออาวุธ​ เพราะซื้อมาแล้ว​ ใช้ไม่คุ้มค่า​ และแพงกว่าปกติ​ ประเทศไทยไม่ได้ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ไปรบกับใคร นอกจากนี้​ รายจ่ายกลาโหมยังทำให้​เศรษฐกิจประเทศเติบโตช้าลง ทำให้ประชาชนจนกว่าที่ควรจะเป็น​และผู้ที่เสนอลดรายจ่ายกลาโหม จึงเป็นคนที่รักชาติและรักไม่แพ้ หรือ ด้อยไปกว่าทหารแต่ประการใด

ประเด็นที่ห้า ไม่มีงบขจัดความยากจน​ มีแต่งบประมาณที่เพิ่มความยากจนให้แก่ประชาชน เช่น​ การแจกเงิน10,000 ล้านบาท​ ทำให้ประชาชนเสียนิสัย ไม่ขยัน รอแจก เป็นทาสเงินรัฐบาล​

ประเด็นที่หก ควรลดรายจ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ จัดอีเว้นท์​ รวมถึง ค่าเดินทางในทุกกระทรวงและหากทำได้อย่างเป็นรูปธรรมจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้หลายหมื่นล้านบาท

ประเด็นที่เจ็ด ควรเลิกระบบวุฒิสภา เพราะที่แต่งตั้งมาก็มิได้เป็นตัวแทนของประชาชนและในระยะเวลา 5 ปี จะลดค่าใช้จ่ายได้ จำนวน 5,500 ล้านบาท

ประเด็นที่เเปด ควรทำงบประมาณจากฐานศูนย์ (zero based budget) โดยดูว่า​ งานที่ทำอยู่มีความจำเป็นไหม​ หากไม่จำเป็นให้เลิกทำ เช่น ลดจำนวนองค์กรมหาชน​ ที่ทำคล้ายกับงานเอกชน เช่น องค์กร ไก่ หมู กุ้ง เป็นต้น เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล

ประเด็นที่เก้า รัฐบาลควรมีขนาดเล็กเพื่อ “ลดอำนาจรัฐบาล เพิ่มอำนาจประชาชน” ให้ภาคประชาชนเจริญเติบโตและรัฐบาลควรทำหน้าที่เพียง 3 ประการ คือ หนึ่ง ป้องกันประเทศ สอง รักษาความสงบและความยุติธรรม และ สาม ทำโครงสร้างพื้นฐาน​ ดูแลสิ่งแวดล้อม​ ดูแลการศึกษา
& สาธารณสุข บรรเทาภัยพิบัติ​ ตลอดจน ขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำของฐานะและรายได้ ส่วนประเด็นที่สิบ หรือ

ประเด็นสุดท้าย หากจะฟื้นเศรษฐกิจกันจริงๆ​ กก็ต้องใช้นโยบายอื่นๆประกอบด้วย เช่น การใช้นโยบายปริมาณเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมทั้ง ต้องเลิกการสืบทอดอำนาจ จากการปฏิวัติรัฐประหาร เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น

“ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นงบประมาณของศักดินา โดยศักดินา และ เพื่อศักดินา ดังนั้น จึงไม่สามารถรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้” ศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ ธาดาธำรงเวช กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด