‘นายกฯ’ กำชับ​ทุกหน่วยงานหนุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดฯ-มาเลย์-ไทย

“นายกฯ” กำชับ​ทุกหน่วยงานหนุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย พร้อมรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ

เมื่อวันที่​ 16​ ตุลาคม​ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี​(ครม.) ​รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่​ 25 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กับแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia – Malaysia – Thai Growth Triangle: IMT-GT) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน ที่ผ่านมา ณ จ.กระบี่

ทั้งนี้​ นายกฯได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุมดังกล่าวต่อไป และกลับมารายงานความก้าวหน้าเป็นระยะๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ IMT-GT ปี​ 2579 ที่ให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ซึ่งผลการประชุมที่สำคัญมีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพ โครงการที่แล้วเสร็จมี 9 โครงการ อาทิ การปรับปรุงด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา และด่านศุลกากรวังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล อยู่ระหว่างดำเนินการมี 23 โครงการ อาทิ ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ท่าอากาศยานเบตงของไทย และมีการเร่งรัดจากฝ่ายไทย 1. การสร้างเส้นทางใหม่เชื่อมโยงด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่และด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม 2. การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งใหม่ เชื่อมระหว่าง อ.ตากใบ – เมืองเปิงกาลันกุโบร์ และสะพานแห่งที่​ 2 เชื่อมระหว่าง อ.สุไหงโก-ลก – เมืองรันเตาปันยัง เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาในระเบียงเศรษฐกิจที่​ 6 เชื่อมโยงพื้นที่ ปัตตานี – ยะลา – นราธิวาส – เประ – กลันตัน – สุมาตราใต้

นอกจากการขับเคลื่อนโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพแล้ว ทั้งสามประเทศยังจะมีความร่วมมือต่อกันใน 3 ด้านหลัก คือ 1.การเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การผลักดันความร่วมมือเรื่องเมืองยางพารา การพัฒนาเครือข่ายนักวิชาการปาล์มน้ำมัน 2. การท่องเที่ยว ที่จะมีการพัฒนากลยุทธ์การตลาดร่วมกัน อาทิ เส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลก ระหว่างสะตูล – ลังกาวี เส้นทางวัฒนธรรมเพอรานากัน (วัฒนธรรมแบบผสมผสานจีน-มลายู ในมะละกา หมู่เกาะชวา และภูเก็ต) เส้นทางเดินเรือเจิ้งเหอ และ 3. ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ซึ่งได้ตกลงร่วมกันในการยอมรับมาตรฐานฮาลาลของแต่ละประเทศ การพัฒนาร่วมกันด้านต่างๆในอุตสาหกรรมฮาลาล ความร่วมมือของอนุภูมิภาค IMT-GT นี้ ยังได้ครอบคลุมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการรักษาสุขอนามัยทางมหาสมุทร และการพัฒนาภาคมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Healthy Ocean and Sustainable Blue Economies)

ซึ่งสามารถดำเนินการโดยเริ่มจากการพัฒนาเมืองสีเขียวเพื่อลดขยะจากพลาสติก น้ำเสีย และของเสียลงสู่มหาสมุทร และมีกิจกรรมบริเวณท่าเรื่อและการท่องเที่ยวทางทะเลและการทำการประมงทะเลที่สะอาด