ธปท. เปิดให้ตั้งบุคคลธรรมดาเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์โดยไม่ต้องขออนุญาต

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานว่า ธปท. อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์และการใช้บริการจากบุคคลภายนอก ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2562 เพื่อผ่อนปรนและกำหนดหลักเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยรายละเอียดส่วนหนึ่ง คือ เรื่องขยายขอบเขตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งบุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนธนาคาร(แบงก์กิ้งเอเย่นต์) ในธุรกรรมบางประเภทได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากธปท. ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น มีหลักแหล่งในการให้บริการ มีความพร้อมด้านเครื่องมือและระบบ ไม่มีลักษณะต้องห้ามที่ไม่พึงประสงค์ โดยสามารถให้บริการในธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น รับถอนเงิน รวมถึงเบิกจ่ายสินเชื่อ รับชำระเงิน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการเข้าถึงบริการของลูกค้า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีสาขาธนาคาร หรือตู้เอทีเอ็มให้บริการ และช่วยลดการทำธุรกรรมนอกระบบ เช่น การโอนเงิน การถอนเงินสดผ่านบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย ส่วนแบงก์กิ้งเอเย่นต์ประเภทนิติบุคคล ยังต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ปัจจุบันโดยมีข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างธนาคารพาณิชย์

รายงานข่าว ระบุว่า จะมีการยกเลิกเพดานในการถอนเงินผ่านตัวแทนธนาคารต่อครั้งจากเดิมที่กำหนดไว้ครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท แต่ยังคงกำหนดวงเงินถอนไม่เกิน 20,000 บาทต่อบัญชีต่อวัน เพื่อลดปัญหาเรื่องการจ่ายค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อนในการทำธุรกรรมที่เกินกว่า 5,000 บาทต่อรายการ

“ธนาคารพาณิชย์สามารถควบคุมดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยตนเอง ขณะเดียวกันธปท.จะตรวจสอบและติดตามความเหมาะสมของการให้บริการและการบริหารความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดไว้ หรือการบริหารความเสี่ยงมีจุดอ่อนหรือไม่ดูแลให้ลูกค้าได้รับบริการอย่างเป็นธรรม ธปท. อาจกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ชะลอ ระงับ สั่งการเกี่ยวกับการให้บริการหรือช่องทางให้บริการบางส่วนหรือทั้งหมดได้” รายงานข่าวระบุ

นายสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารเล็งเห็นศักยภาพของลูกค้าบุคคลธรรมดาบางกลุ่มที่จะแต่งตั้งให้เป็นแบงกิ้งเอเย่ต์ได้ ได้แก่ ลูกค้าที่รับชำระเงินด้วยเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร (อีดีซี) กลุ่มผู้ค้าออนไลน์ที่ใช้บริการเคพลัส ช้อป คนขับขี่บนแพลตฟอร์มแกร็บ อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนของกฏเกณฑ์ จากธปท.อย่างเป็นทางการก่อน จึงจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการแต่งตั้งกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ของธนาคารต่อไป โดยช่องทางดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการของธนาคารได้สะดวก ง่าย และรวดเร็วขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้บริการและคุ้นเคยกับกลุ่มบุคคลเหล่านี้อยู่แล้ว