สสจ.ตรัง พาเหรดขึ้นป้ายแบน ‘3 สารเคมีอันตราย’ รพ.สต.-อสม.เร่งให้ความรู้ชาวบ้านเลิกใช้

วันที่ 14 ตุลาคม ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตรัง นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ตรัง ให้สัมภาษณ์ถึงการแสดงท่าทีของ สสจ.ตรัง ให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรที่เป็นอันตรายทั้ง 3 ชนิด ประกอบด้วย คลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต โดยพาราควอต ไกลโฟเซต เป็นสารปราบวัชพืช ส่วนคลอร์ไพริฟอส เป็นยาฆ่าแมลง ว่า ข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นด้วยกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการ สธ. เพราะสาธารณสุขมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชน

“สารเคมีล้วนแต่เป็นตรายต่อสุขภาพของประชาชน แต่ทางสาธารณสุขก็ไม่ทราบว่าในปริมาณการใช้กับพื้นที่การเกษตรนั้น มีการควบคุมการใช้แค่ไหนอย่างไร แต่ในส่วนของสาธารณสุขถ้าอะไรที่นำมาตรวจได้ ก็นำมาตรวจทั้งในคน และในผักต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพให้กับประชาชนซึ่งทำมานานแล้ว” นพ.บรรเจิด กล่าวและว่า สำหรับตัวเลขของ จ.ตรังตั้งแต่ปี 2560 – 2562 มีการสุ่มเจาะเลือดตรวจหาสารเคมีปนเปื้อนรวม 13,764 ราย พบมีความเสี่ยง 2,972 ราย หรือประมาณ 1 ใน 5 หรือกว่าร้อยละ 22 ที่มีระดับของสารเคมีอันตรายเหล่านี้สูงจนถึงขั้นมีความเสี่ยง จึงอยากจะประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรต้องมีความระมัดระวังอย่างมากในการใช้สารเคมี

sdr

นพ.บรรเจิด กล่าวว่า นอกจากนั้น ในส่วนของผู้ที่มีอาการป่วยจากการใช้สารเคมีแล้วเข้ารับระบบการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐมีจำนวน 47 ราย พบเกิดจากสารพิษฆ่าแมลง 20 ราย พิษจากยาฆ่าหญ้า 11 ราย และสารอื่นๆ เช่น ฆ่าปู ฆ่าหอย 16 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่ใช่เป็นตัวเลขของการฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายแต่อย่างใด แต่เกิดอาการป่วยจากการใช้สารเคมี

dig

“ในส่วนของ สสจ.ตรัง ได้สั่งการให้โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ขึ้นป้าย เพื่อประกาศเจตนารมย์ร่วมสนับสนุนให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยกำลังเจ้าหน้าที่ รพ.สต. และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะเข้าให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่างๆ ที่รุนแรงตามมามากมายและให้มีความรู้ในการป้องกันตนเองจากสารเคมีอื่นๆ ที่จะปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายของประชาชนต่อไป รวมทั้งจะทำโครงการสุ่มตรวจเจาะเลือดคัดกรองประชาชนหาสารเคมีในเลือด เพื่อเฝ้าระวังรักษาต่อไป” นพ.บรรเจิด กล่าว