“ไทยบีเอ็มเอ” หวั่นเกิดเศรษฐกิจถดทอย หลังตัวเลขศก.บ่งชี้มีโอกาสเพิ่ม

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ไทยบีเอ็มเอ) เปิดเผยว่าทิศทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากประเมินจากตัวเลขเศรษฐกิจของต่างประเทศ ชี้ออกมาว่าอีกไม่นานอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจทดถอยได้ ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมตัวตั้งรับ หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง ควรจะรับมืออย่างไร ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเร่งทำอยู่ โดยมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในขณะนี้ เป็นมาตรการระยะสั้นที่ต้องการความรวดเร็วในการช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ในระยะยาวมองว่าควรเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเชื่อว่าหากเร่งรัดให้โครงการที่ยังค้างคาอยู่เดินหน้าต่อไปได้ ก็น่าจะเพียงพอกับการช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศโตได้ต่อเนื่อง โดยมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศที่มีออกมา คาดว่าน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้บ้าง แต่เนื่องจากเป็นมาตรการระยะสั้น ก็อาจจะเห็นผลแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในปี 2563 มองว่าน่าจะเหนื่อยและมีความน่ากังวลมากกว่านี้ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวในต่างประเทศ บ่งชี้ออกมาว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปีหน้าจะไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงตัวเลขหนี้เสียในประเทศไทยก็ยังทะยอยปรับตัวเพิ่มมากขึ้นด้วย อีกทั้งปัจจัยกระทบหลักอย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน (เทรดวอร์) ที่ประเมินว่าจะยืดเยื้อไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2563

“ยังคงสงสัยว่าทำไมค่าเงินบาทถึงยังแข็ง เพราะเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลและตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาก็บอกกันว่า เป็นเพราะคนไทยเห็นว่าทองคำปรับราคาขึ้น จึงเทขายทองคำกันค่อนข้างมาก แต่ช่วงหลังๆ ก็มองกันว่าเป็นเพราะมีหุ้นไทยขนาดใหญ่ทะยอยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้กลับมาซื้อหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น แต่สถานะก็ยังคงเป็นการขายสุทธิอยู่ ก็เป็นเหตุผลของคำถามว่า เพราะอะไรทำไมค่าเงินบาทถึงยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง”นายธาดากล่าว

นายธาดา กล่าวว่า ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยใน 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2562 ตลาดตราสารหนี้ไทยโดยรวมโตที่ 3.7% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ดี ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 91,280 ล้านบาทต่อวัน ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี เพิ่มขึ้นกว่า 16% เมือเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยมีมูลค่าคงค้างรวมเพิ่มขึ้นเป็น 13.27 ล้านล้านบาท จากปี 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 12.79 ล้านล้านบาท ซึ่งในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา มีมูลค่าคงค้างอยู่ที่ 72,008 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผ่านมา โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวมีการออกเพิ่มขึ้น 15% เเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561  ทำให้มูลค่าการออกใน 9 เดือนแรกปี 2562 เกือบเท่ากับมูลค่าการออกของปี 2561 ทั้งปี ซึ่งเป็นการออกเพิ่มขึ้นจากทั้งกลุ่มการเงินการธนาคาร และกลุ่มธุรตกิที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจริง โดยกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นกลุ่มเดียวที่มียอดการออกเพิ่มขึ้นทุกปี ในตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นมีมูลค่าการออกลดลง 66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยการออกตั๋วแลกเงินส่วนใหญ่เป็นการเสนอขายต่อนักลงทุนสถาบันเท่านั้น

นายธาดา กล่าวว่า สำหรับกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทย เริ่มพลิกกลับมาเป็นการขายสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ใช้มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินในช่วงต้นเดือนกรกฏาคม ที่ผ่านมา และการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี และยังมีธนาคารกลางในประเทศหลักๆ ลดดอกเบี้ยลงตาม  รวมถึงประเทศไทยได้ลดดอกเบี้ยลงในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีการปรับพอร์ตในการลงทุนและทยอยขายเพื่อทำกำไร จึงพบว่ามีการขายสุทธิในตราสารหนี้ไทยตลอดไตรมาส 3 ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 เงินลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้วกว่า 75,722 ล้านบาท โดยเป็นการลดลงในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น 126,105 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว 50,383 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิของต่างชาติในตราสารหนี้ไทย ช่วงสิ้นไตรมาส 3 เท่ากับ 918,343 ล้านบาท หรือคิดเป็น  6.9% ของมูลค่ารวมในตลาดตราสารหนี้ไทย

“อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 โดยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ ที่ 1.34% และ 10 ปี อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 1.43% ซึ่งเป็นการทำสถิติแตะระดับต่ำที่สุด ในส่วนของทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 คาดว่าจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จะเป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในช่วงปลายปี 2562 ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นขยับลดลงตาม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดแล้ว น่าจะมีโอกาสปรับตัวลงได้อีกไม่มาก แต่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ หากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มว่าจะตกลงกันได้ สำหรับผลกระทบจากภาษีการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ภายใต้จำนวนตัวอย่างข้อมูลที่มีจำกัดพบว่า ตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าการออกลดลงเฉลี่ย 70% ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการเก็บภาษี มูลค่าการซื้อขายของกลุ่มกองทุนรวมในตราสารหนี้ระยะสั้น ลดลงกว่า 61% ส่วนระยะยาวลดลง 33%“นายธาดา กล่าวว่า