22 ปี 11 ตุลาคม 2540 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 กฎหมายสูงสุดฉบับประชาชน

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 หรือเมื่อ 22 ปีก่อน เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 16 ของประเทศไทย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ที่ยกร่างขึ้นโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่มีการประกาศใช้นั้นอยู่ในสมัยของรัฐบาลที่มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายวัน มูฮัมหมัด นอร์มะทา เป็นประธานรัฐสภา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีกระบวนการจัดทำที่ให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากแต่ละจังหวัดเข้ามาด้วย และในขณะดำเนินการยกร่างก็ได้ออกไปฟังความคิดเห็นของประชาชนมากกว่าที่เคยมีมาก่อน จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนเลยทีเดียว

ที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นี้มาจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองหลังจากที่ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ที่มีคนมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะทหารที่ยึดอำนาจ แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีข้อดีที่สำคัญคือการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตายตัวเอาไว้ ส่วนข้อด้อยทั้งหลายก็ได้มีการแก้ไขไปอย่างมากแล้วใน พ.ศ. 2535 และผู้คนมองกันว่าเมื่อกันทหารออกไปจากการเมืองแล้วให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจเต็มที่ นักการเมืองเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้การเมืองดีขึ้น ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2538 พรรคชาติไทย ของนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้ชูนโยบายปฏิรูปการเมืองที่ต้องทำให้มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่โดยไม่ให้นักการเมืองเป็นผู้ร่าง เมื่อผลการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคชาติไทยชนะ และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่มีนายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี การปฏิรูปจึงเริ่มขึ้นโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนั้นให้สามารถมีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาและให้รัฐสภามีหน้าที่เพียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเท่านั้น

สภาร่างรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นี้ ประกอบด้วยตัวแทนจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน ร่วมกับตัวแทนนักวิชาการอีก 23 คน รวมเป็น 99 คน เมื่อได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงเลือกนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาและเลือกนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง สภาร่างได้ดำเนินการยกร่างเสร็จเรียบร้อย เสนอต่อรัฐสภาผ่านออกมาใช้แทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 โดยมีประชาชนชื่นชมและสนับสนุน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ฉบับนี้มิได้เปลี่ยนโครงสร้างของรูปแบบรัฐบาล คือ ยังเป็นระบบรัฐสภา และมี 2 สภาได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญนี้มีเป้าหมายที่จะเอื้อให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็งและพรรคการเมืองใหญ่ที่เข้มแข็งขึ้นด้วย จึงกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ย้ายพรรคการเมืองได้ยากมาก และกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนฯ ประเภทที่มาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองทั้งหมดถึง 100 คน โดยพรรคใหญ่จะได้เปรียบเพราะกำหนดคะแนนขั้นต่ำของพรรคการเมืองที่จะได้ผู้แทนราษฎรประเภทนี้จากคะแนนรวมของพรรคทั้งประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของผู้มาออกเสียงเลือกตั้ง

สาระสำคัญอีก 2 ประการในรัฐธรรมนูญก็คือ หนึ่งการบัญญัติถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้ เพราะต้องการให้ประชาชนมีความเข้มแข็งมากเช่นกันเพื่อจะได้ทันกับความเข้มแข็งของรัฐบาล อีกอย่างก็คือการกำหนดให้มีองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับอำนาจนิติบัญญัติ บริหารหรือตุลาการ จนมีบางคณะเรียกว่าเป็น “อำนาจที่ 4” ขึ้นมาตรวจสอบรัฐบาลและองค์กรอำนาจอื่น ๆ ได้ เพราะทราบกันดีว่าในระบบรัฐสภานั้นสภาจะตรวจสอบรัฐบาลได้ไม่มากนัก

องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น ซึ่งการมีองค์กรอิสระเหล่านี้นับว่าได้เป็นของใหม่ในวงการเมืองไทย และดูจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนโดยทั่วไป แต่ฝ่ายการเมืองนั้นดูจะไม่ชอบใจนัก กระนั้นก็ยังยอมรับการเปลี่ยนแปลง

หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้แล้ว มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกใน พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทย ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค ชนะได้เสียงเป็นอันดับหนึ่งและใกล้เคียงกับจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดในสภาผู้แทนฯ จึงได้จัดตั้งรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ใช้ต่อมารวมแล้วประมาณ 9 ปี จนถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 คณะทหารก็ได้ยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นี้

ที่มาข้อมูล สถาบันพระปกเกล้า