อนุกรรมการอีอีซีเคาะแผนส่งมอบที่ดินสร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ภายใน 2 ปี 3 ด. พร้อมหางบรื้อถอน-ย้าย(ชมคลิป)

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) กล่าวว่า  อนุกรรมการฯ มีข้อสรุปเกี่ยวกับการส่งมอบที่ดินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้กับเอกชน โดยตามแผนการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ช่วงคือในช่วงแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ระยะทาง 28 กม.สามารถส่งมอบได้ทันที ส่วนช่วงรถไฟความเร็วสูงช่วงลาดกระบัง – อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. สามารถส่งมอบภายใน 1 ปี 3 เดือนนับจากวันที่ลงนามในสัญญาร่วมลงทุน  สำหรับช่วงแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยายไปถึงดอนเมือง ระยะทาง 22 กม. ส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 2 ปี 3 เดือน

นายอุตตม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมแต่งตั้งคณะทำงานการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยมี ปลัดกระทรวง คมนาคม เป็นประธานคณะทำงาน รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานคณะทำงาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการร่วมเป็นคณะทำงาน

นายคณิศ  แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า หลังลงนามสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับเอกชนแล้ว แผนการก่อสร้างแล้วเสร็จใน 5 ปี โดยในส่วนสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เปิดให้บริการในปี 2566/67 จากเดิมกำหนดไว้ปลายปี 2566 ส่วนสถานีพญาไท-ดอนเมือง เปิดให้บริการในปี2567/68 ซึ่งโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ไม่ได้เป็นแบบข่าวที่ว่ามีปัญหากัน

“ภาครัฐทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือ เพื่อให้มีการลงนามสัญญา ไม่มีเจตนาที่จะให้เป็นอย่างอื่น ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายก และรัฐมนตรีทุกท่าน ที่เป็นกรรมการนโยบายอีอีซี พยายามช่วยเหลือ และผลักดัน ให้มีการลงนามโดยเร็ว ส่วน เอกชน ก็มีความต้องการที่จะลงนาม และพยายามที่จะชี้ให้เห็นคามเสี่ยงสุดท้ายคือการ ส่งมอบที่ดินที่ต้องมีความชัดเจน เพื่อให้สามารถไประดมเงินทุนและเงินกู้จากสถาบันการเงิน เพราะหากกำหนดการไม่ชัดเจน มีความเสี่ยงที่อาจขาดทุนได้ ล่าสุดมีการแก้ปัญหาตรงนี้เรียบร้อยแล้ว”นายคณิศ กล่าว

นายคณิศกล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณในการรื้อถอนและย้าย เช่น  เสาไฟฟ้าแรงสูง ย้ายท่อน้ำมัน ย้ายเสาโทรเลข นั้นจะต้องไปดูว่าใช้งบประมาณเท่าใด เจ้าของพื้นที่สามารถออกงบประมาณเองได้หรือไม่ถ้าไม่ได้จะต้องจัดหางบประมาณให้ ซึ่งการส่งพื้นที่แบบเดิมมีปัญหาวิธีปรกติให้เอกชนไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง จึงใช้เวลานาน และระยะเวลาไม่ชัดเจน  เพราะมีจุดตัดจำนวนมาก 230 จุดเกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง 8 หน่วยงาน  ที่ต้องปรับปรุงหรือโยกย้าย  การใช้วิธีเดิมให้เอกชนเจรจาเองโดยรัฐบาลไม่ช่วยจึงไม่เหมาะสมและจะใช้เวลานานมาก ดังนั้นข้อสรุปของการประชุมครั้งนี้ช่วยทำให้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นไปตามแผนที่วางไว้