แนะ “วัยเรียน” กินไข่วันละฟอง ควบนม 2 แก้ว เพิ่มพัฒนาการ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการไข่ไก่ระหว่างประเทศ (The International Egg Commission หรือ IEC) ได้กำหนดให้วันศุกร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมทุกปี เป็น “วันไข่โลก” เพื่อรณรงค์และส่งเสริมการบริโภคไข่ เนื่องจากไข่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูง อาทิ ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 บี 12 วิตามินอี วิตามินดี โฟเลต เลซิธิน ลูทีน ซีแซนทีนและโคลีน เหมาะสมสำหรับทุกเพศ ทุกวัย

นายสาธิต กล่าวว่า สธ.ส่งเสริมให้ประชาชน “กินไข่ทุกวัน กินดีทุกวัย” โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนได้กินไข่ทุกวัน ควบคู่กับการดื่มนมวันละ 2 แก้ว และส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ แข็งแรง และฉลาด เพราะจากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากร พ.ศ.2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในกลุ่มวัยเรียนบริโภคไข่ทุกวันเพียงร้อยละ 23.7

นายสาธิต กล่าวว่า ไข่ไก่ 1 ฟอง ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี และมีโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุดโดยมีประสิทธิภาพในการดูดซึมสูงกว่าอาหารชนิดอื่น ซึ่งมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย 9 ชนิด ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและการทำงานของระบบประสาท กระตุ้นการทำงานของสมอง เสริมสมาธิและความจำ

ทางด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เด็กในแต่ละวัยจะบริโภคไข่ในปริมาณต่างกัน โดยเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ให้เริ่มที่ไข่แดงต้มสุกวันละครึ่ง ถึง 1 ฟอง เด็กอายุ 7-12 เดือน กินไข่ต้มสุกวันละครึ่งถึง 1 ฟอง เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป และเด็กวัยเรียนควรกินไข่วันละฟอง ควบคู่กับการบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ กลุ่มวัยสูงอายุสามารถกินไข่ต้มสุกได้วันละฟอง แต่ในผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ควรกินไข่ 3 ฟองต่อสัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ที่สำคัญต้องดูแลการบริโภคอาหารอย่างอื่นร่วมด้วย

“นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการกินไข่ดิบ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และไข่ขาวที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมไบโอตินซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งในลำไส้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบีชนิดนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ จึงได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ การนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาหารเพิ่มความหลากหลายให้กับการกินไข่ไก่ เป็นอีกทางเลือกที่ดีในการกินทุกวัน” พญ.พรรณพิมล กล่าวและว่า ควรกินในรูปแบบไข่ต้ม ไข่ตุ๋น จะมีปริมาณไขมันน้อยกว่าไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย หรืออาจกินเป็นสลัดไข่ ยำไข่ เพราะจะทำให้ได้สารอาหารที่มีประโยชน์จากไข่ และได้ใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุจากผัก ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ขนมปังไข่ดาวใส่เบคอนหรือไส้กรอก เพราะจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอน น้ำมันที่ใช้ทอด และเนยที่ทาขนมปัง ทั้งนี้ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้จัดทำ “เมนูไข่สำหรับอาหารกลางวันเด็กนักเรียน” ซึ่งเป็นเมนูไข่ที่หลากหลายประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://multimedia.anamai.moph.go.th/ebooks/egg-menu-for-school-age-children/