ส.ส.บัญชีรายชื่อพลังท้องถิ่นไท จี้หัวหน้าพรรคแสดงจุดยืนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบปี’63 หลังพบมีปัญหากระทบรายได้ อปท.ทั่วประเทศ

วันที่ 10 ตุลาคม นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขาธิการพรรคพลังท้องถิ่นไท เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานด้านงบประมาณที่จะเข้าสู่สภาวันที่ 17-18 ตุลาคม 2562 พบว่างบประมาณด้านการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และการกำหนดสัดส่วนที่มาของรายได้ท้องถิ่นในระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ตรงข้อเท็จจริง เนื่องจากมีการประเมินรายรับของ อปท.สูงเกินจริง คาดว่ารายได้ในการจัดทำงบประมาณของ อปท.จะหายไปประมาณ 30,000 ล้านบาท ดังนั้นข้อบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2563 อาจมีผลต่อ อปท.อย่างแน่นอน นอกจากนั้นยังพบว่างบประมาณของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ทับซ้อนภารกิจในเป้าหมายเดียวกันไม่เกิดผลดีต่อพัฒนาประเทศ

“ขณะนี้ได้เสนอข้อมูลถึงหัวหน้าพรรคให้ตัดสินใจว่า ส.ส.ของพรรคควรจะยกมือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ สำหรับส่วนของนายนพดล แก้วสุพัฒน์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ตัวแทนคนท้องถิ่นอดีตนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) แห่งประเทศไทยชี้แจงว่า จะขออนุญาตหัวหน้าพรรคใช้เอกสิทธิ์ส่วนตัวในการโหวตร่าง พ.ร.บ งบประมาณฯที่กระทบกับ อปท. และขอให้พรรคแสดงจุดยืนในฐานะพรรคการเมืองเพื่อคนท้องถิ่น หากสิ่งใดไม่ถูกต้องก็ไม่ควรให้การสนับสนุน”นายธีรศักดิ์กล่าว

นายวีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของนักวิชาการหลายรายกรณีรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ยังไม่ลาออกจาก ส.ส.ไม่ควรยกมือหนุนร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แม้ว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีข้อห้ามในบทบาทที่ขัดกัน อาจเป็นประเด็นที่ถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร และไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปการเมืองตามที่อ้างไว้ แต่ถูกมองว่าล้าหลังเพราะในหลายประเทศก็กำหนดหลักการนี้ไว้ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 ได้เขียนห้ามไว้ชัดเจน และในหลักการการทำหน้าที่ ส.ส.กับรัฐมนตรีไม่ควรมีอำนาจทับซ้อนหรือขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เพราะการบริหารประเทศมีหลักการแบ่งอำนาจไว้เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุล โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติกำลังตรวจสอบฝ่ายบริหารจากการใช้งบประมาณ

“ก่อนที่รัฐบาลจะต้องนำงบไปใช้ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อมีรัฐมนตรีบางรายยังเป็น สส.ถือว่าบทบาทซ้อนกันชัดเจน ขัดกับหลักรัฐศาสตร์ เมื่ออ้างว่ารัฐธรรมนูญไม่ห้ามไว้ก็ต้องกลับไปดูเจตนารมณ์ของผู้ร่าง แต่โดยมารยาททางการเมืองหรือสปริต ต้องคำนึงด้วยว่ารัฐมนตรีควรมีบทบาทซ้ำซ้อนในลักษณะนี้หรือไม่ และเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลต้องการให้งบผ่าน ก็จะมีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ร่วมยกมือด้วย ทั้งที่อาจจะไม่ต้องรับฟังเหตุผลจากการอภิปราย ที่สำคัญรัฐมนตรีที่เป็น สส.จะกล้าลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณที่รัฐบาลจะนำไปใช้จ่ายด้วยหรือไม่ หรือกล้าตั้งคำถามในกระทรวงที่สังกัดว่าตั้งงบประมาณรายจ่ายเหมาะสมแล้วหรือไม่อย่างไร”นายวีระศักดิ์กล่าว