อดีต ปธ.ศาลอุทธรณ์ แนะแก้ปม “คณากร” เสนอลดอำนาจของสายบังคับบัญชา ชี้ผู้พิพากษาต้องเก็บตัวไม่ยุ่งการเมือง

“ศิริชัย” อดีตประธานศาลอุทธรณ์ แนะแก้ปม “คณากร” เสนอลดอำนาจของสายบังคับบัญชา ตรวจคำพิพากษาเฉพาะคดีเล็กศาลแขวง เพราะคดีใหญ่อุทธรณ์ได้อยู่แล้ว ส่งผู้พิพากษาใหม่ฝึกงานศาลสูง ป้องกันความผิดพลาด กลับไปเก็บตัวอย่ายุ่งการเมือง
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 ตุลาคม ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ ถ.เพชรบุรี นายศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ แถลงข่าวแสดงความคิดเห็นต่อนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ที่ยิงตัวเองหลังตัดสินคดีความ

โดยนายศิริชัย กล่าวว่า ผู้พิพากษาเป็นอิสระไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ มีเหตุต้องเข้ามาดูแลควบคุมบ้างในชั้นศาล ศาลชั้นต้นมีอธิบดีผู้พิพากษาภาคดูแล ตามระเบียบต้องตรวจสำนวนคดีอุกฉกรรจ์ ในศาลอุทธรณ์ ฎีกา ก็มีผู้ตรวจผ่านได้หรือไม่ ถ้าไม่ผ่านต้องมีการทักท้วง คุยกับเจ้าของสำนวนใหม่ เพื่อตัดสินให้ออกแนวเดียวกัน ถ้าไม่เหมือนกันจะทำให้ประชาชนสับสน เป็นระบบที่มีมานานแล้ว หากมีเหตุกระทบต่อความยุติธรรม สามารถโอนสำนวนได้

นายศิริชัย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการตรวจคดีมีประโยชน์น้อย เพราะคดีใหญ่เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาเสร็จต้องไปอุทธรณ์ต่อ การมานั่งทักท้วงเปลี่ยนผลไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งที่ควรจะตรวจไม่ใช่คดีใหญ่ ต้องเป็นคดีเล็ก เพราะหากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงจะกระทบกระเทือนสิทธิ แก้ไขไม่ได้

จึงควรตรวจคดีเล็ก อย่างศาลแขวง และในศาลแขวงควรเอาผู้พิพากษาอาวุโสไปอยู่ดีกว่าผู้พิพากษาใหม่ ระบบต้องเปลี่ยน คือทำให้ผู้พิพากษาใหม่มีประสบการณ์โดยผ่านการอบรม 2 ปี และฝึกงานในศาลสูง จะได้เห็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่มีการอุทธรณ์ ฎีกา มาว่ามีอะไรผิดพลาดบ้าง ต่อไปเวลาเขียนคำพิพากษาก็จะไม่มีข้อบกพร่องมาก และการตรวจสำนวนควรตรวจในคดีเล็ก ต้องกลับหัวกลับหาง ทั้งนี้ ควรมีการแก้ไขลดอำนาจผู้บริหาร ให้หัวหน้าศาลแต่ละแห่งพิจารณากันเอง ตกลงกันเอง

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคิดเห็นต่อกรณีของนายคณากรที่ถูกโยงกับการเมือง นายศิริชัย เผยว่า ผู้พิพากษาสมัยก่อนจะเก็บตัว แต่มียุคหนึ่งบอกให้เปิดตัว ทำให้คนมาคบหาผลประโยชน์วุ่นวายไปหมด ผู้พิพากษาไม่ควรรู้จักคนกว้าง เพราะรู้จักแล้วคนก็เข้ามาขอ ต้องเปลี่ยนกันไปเก็บตัว

เรื่องการเมือง ขออย่าแบ่งฝ่าย สาดกันไปมาตลอดเวลา บ้านเมืองจะพัฒนาได้ต้องมีความสามัคคี ไม่เช่นนั้นเราไปกันไม่ได้ อยากให้ทุกคนกลับมามองศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้ได้ ไม่อยากให้มองเป็นที่พึ่งของผู้บริหาร การเมืองทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย ควรเก็บตัวเหมือนเดิมให้ห่างไกลกับกลุ่มผลประโยชน์ ความนิยมในพรรคการเมืองใดต้องเก็บไว้แยกออกจากหน้าที่การงาน

ถามถึงการที่นายคณากรนำอาวุธปืนเข้าไปในศาลผิดหรือไม่ นายศิริชัย บอกว่า การพกอาวุธนั้นใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นข้อยกเว้นให้มีอาวุธไว้ป้องกันตัวได้ แต่การพกเข้าไปในห้องพิจารณานั้นตนไม่เคยอยู่ในพื้นที่ จึงไม่มั่นใจว่าทำได้หรือไม่ ไม่ได้ถามใคร

นายศิริชัย ตอบคำถามสื่อถึงข้อเสนอแนะต่อ ก.ต.ในการปรับปรุงการบริหารศาลยุติธรรม และประเด็นที่นายคณากรระบุมีรายได้ไม่เพียงพอ ว่า ผู้บริหารต้องมีที่ปรึกษาด้านการบริหารงานบุคคล เพื่อดูว่าควรแก้ไขปัญหาอย่างไร

ทั้งนี้ ตนไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งของศาล ทำให้เป็นจุดตกต่ำ เพราะนักเลือกตั้งมีหัวคะแนน เลือกยังไงก็ชนะทุกที ควรยึดหลักอาวุโส ไม่ใช่ตอบแทนใคร ส่วนเรื่องรายได้นั้น การอยู่ในระบบเข้ามาก็ต้องยอมรับแบบนี้ เราก็ใช้เท่าที่ไม่ให้เดือดร้อน

ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่นายคณากรยิงตัวเองนั้น นายศิริชัย กล่าวว่า ตนไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้ แต่ละคนรับแรงกดดันไม่เหมือนกัน ผู้พิพากษาเข้าหาผู้ใหญ่เพื่อเลือก ก.ต. ก็เสีย ผูกพันหัวคะแนน เมื่อมีการเพิ่มตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคก็ไม่มีงานทำ

พอมีสายสัมพันธ์ก็มาร้องขอผู้พิพากษาในภาคให้ช่วย ในช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 จึงมีการยุบรองอธิบดีฯ เหลืออธิบดีคนเดียว เรื่องปัญหากดดันตนก็เคยโดน สมัยก่อนตนสั่งคดีโจทก์ว่าเสียค่าขึ้นศาลไม่ครบ ทนายโจทก์ก็โทรติดต่อไปจนถึงอธิบดีให้มาสั่งให้ตนแก้ ตนก็ยอมแก้

ส่วนข้อเสนอแนะต่ออนุ ก.ต.วิสามัญสอบข้อเท็จจริง นายศิริชัย มองว่าควรทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอีก อธิบดีต้องเป็นคนใจเย็น ฟังความคิดเห็น รู้จักประนีประนอมมากกว่าการใช้อำนาจรุนแรง ลดอำนาจของสายบังคับบัญชาให้อยู่ศาลใครศาลมัน การแต่งตั้งอย่าเอาพรรคพวก ระบบศาลมีอยู่แล้ว

กรณีที่ยะลาอยู่ในระเบียบใช้กันมานาน ยังไม่ปรากฏว่าอธิบดีไปรับคำสั่งใครมาให้ลงโทษจำเลย ผู้พิพากษาต้องใช้เหตุผล ไม่ใช้อำนาจ บางทีถ้าผู้พิพากษาไม่เข้าใจบทบาท ผู้บริหารมีความเห็นว่าไม่ถูกต้องก็รายงานความประพฤติไปได้ ผู้บริหารต้องใจกว้างอะลุ่มอล่วย เรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่มีค่า ต้องเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส จะทำยังไงให้ดีกว่านี้