“ชวน” เผย ห้องประชุมสุริยันเสร็จ 90% แล้ว ขีดเส้น ธ.ค.นี้ ต้องเสร็จ

“ชวน” เผย ห้องประชุมสุริยันเสร็จ 90% แล้ว ขีดเส้น ธ.ค.นี้ ต้องเสร็จ แนะติดเรื่องงบประมาณ ให้บอกรบ.โดยตรง เพราะต้องใช้เหมือนกัน

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่รัฐสภา เกียกกาย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารัฐสภาใหม่ในส่วนของห้องประชุมสุริยัน ซึ่งเป็นห้องประชุมส.ส.ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าในส่วนของห้องประชุมสภาฯประมาณ 90% แต่ถ้าเป็นภาพรวมจะมีความคืบหน้า 80% เนื่องจากการก่อสร้างนั้นได้เร่งให้ดำเนินการในส่วนของห้องสุริยัน โดยขณะนี้สภาฯได้ยืมห้องประชุมจันทราของวุฒิสภาใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งการประชุมกฎหมายงบประมาณ นั้น ส.ว.ก็ต้องใช้ห้องประชุมเหมือนกัน ทั้งนี้ในส่วนของห้องประชุมสุริยัน ทางคณะทำงานได้รายงานว่า จะดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยส่วนตัวได้เตือนไปว่า ต้องพยายามทำให้เรียบร้อย เพราะการที่เราใช้ห้องประชุมจันทราทำให้เรารู้ว่ามีปัญหามาก แม้วันนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ในห้องประชุม ทั้งไมโครโฟนและเครื่องลงคะแนนและอื่นๆอยู่ ดังนั้น ห้องสุริยันก็จะต้องให้มีความพร้อม และนับจากนี้ไปจนถึงเดือนธันวาคมได้ขอความร่วมมือจากผู้รับเหมาให้เร่งดำเนินการ

“แต่บางโครงการผู้รับเหมาก็ไม่รับ ทำให้ต้องขอร้องกัน ซึ่งผมห่วงว่า การไปขอร้องแบบนี้เดี๋ยวจะมีคนมาร้องว่า ไม่เป็นตามระเบียบ เพราะแม้เราจะเร่งให้เร็วขึ้นก็ตาม แต่ผู้ร้องก็จะไม่สนใจเรื่องนี้ ดังนั้นจึงบอกไปว่า จะทำอะไรต้องนึกถึงระเบียบไว้ก่อน เพราะหากมีคนไปร้องจะทำให้มีปัญหาได้ ทั้งนี้ได้ขอให้คณะทำงานรายงานความคืบหน้ามาเป็นระยะ หากติดเรื่องงบประมาณก็ขอให้แจ้งมาเพื่อที่จะได้ขอประสานงานกับรัฐบาลโดยตรง เพราะรัฐบาลต้องใช้ห้องประชุมเหมือนกัน”นายชวน กล่าวและว่า เมื่อห้องประชุมสุริยันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการก็ต้องมีความพร้อม ส่วนที่มีปัญหารอได้ คือ บริเวณโดยรอบ ซึ่งตามข้อตกลงจะเสร็จภายในปี 2563 ซึ่งตนได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นไม้ที่จะนำมาปลูกโดยรอบไปว่า แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนสัญญาได้ แต่แนะนำไปว่า ต้นไม้ชนิดใดที่ควรปลูก หรือต้นไม้ชนิดที่เขายัดเหยียดให้ปลูกและไม่มีประโยชน์ เช่น ต้นไม้จำพวกปาล์ม เพราะปาล์มบางชนิดไม่ให้อ๊อกซิเจน โดยต้นไม้ที่ให้อ๊อกซิเจน คือ ต้นไม้ประเภทไม้ยืนต้นที่ใบสามารถดูดซับคาร์บอนไดอ๊อคไซค์ได้ และให้อ๊อกซิเจน ซึ่งขอให้ยึดตามหลักวิทยาศาสตร์