‘ทวี’ ยกเทียบ “รถไฟความเร็วสูง” พบไทยแพงกว่าจีน 8 เท่า ซัดเอกชนเป็นเจ้าของ ไม่ได้ลดเหลื่อมล้ำ

เมื่อวานนี้ (7 ตุลาคม 2562) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ในวันที่ 8 ต.ค. 2562 เวลา 10.00 น.-12.30 น สภาที่ 3 และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จะจัดเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ “บัญญัติกลโกง 10 ประการ” ลำดับที่ 1 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการ EEC กระทรวงคมนาคม

โดยมีคณะวิทยากร ประกอบด้วย นายธีรชัย ภูวนาทนรานุบาล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ, นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย, นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และประธานสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย

พ.ต.อ.ทวี ยังได้ยกข้อเขียนของ อ.กมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ ได้แสดงความเห็น เรื่อง “ความแตกต่างของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีน กับ ไทย” ดังนี้

โครงการรถไฟฟ้าของจีน
1. เจ้าของโครงการ คือ กระทรวงราง (Ministry of Railway -MOR) โดยตั้งบริษัท China Railway Corporation ขึ้นมาดำเนินการให้บริการในชื่อ China Railway High-speed (CRH).

2. การลงทุน ร้อยละ 50 ของเงินลงทุนมาจากการกู้เงินจากธนาคารของรัฐ ที่มีชื่อว่า ธนาคารเพื่อการลงทุนระบบราง (China Rail Investment Corp -CRIC) ร้อยละ 40 มาจากการขายพันธบัตรที่ออกโดยกระทรวงราง อีกร้อยละ 10 มาจากรัฐบาลท้องถิ่น

3. เป้าหมาย ไม่ใช่การหากำไร แต่คือการลดความเหลื่อมล้ำของเมืองใหญ่ และเมืองเล็ก เพื่อให้เมืองเล็กได้ขยายตลาดและเข้าถึงตลาด ผลผลิตและวัตถุดิบ ตลาดการท่องเที่ยว และการสร้างงานในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อและเพิ่มจีดีพีของท้องถิ่น เป็นกำไรในระยะยาวต่อประเทศและประชาชน เป็น intangible assets

4. การออกแบบครั้งเดียวที่เป็นมาตรฐานใช้ได้ทั่วไปกับทุกพื้นที่ โดยสามารถผลิตในโรงงานชั่วคราวที่ตั้งขึ้นใกล้บริเวณก่อสร้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง

5. ระบบรถไฟความเร็วสูงสร้างหลายระบบมารองรับระบบขนส่งสินค้าโดยมีความเร็วระดับปานกลางและต่ำ เช่น 150-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่ระดับความเร็วสูงสำหรับผู้โดยสารมีความเร็ว 350-650 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนรางเดียวกัน

6. การลงทุนร่วมผลิตตัวรถไฟกับบริษัทต่างชาติและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากยุโรปและญี่ปุ่น เช่น บริษัท Kawasaki ผู้ผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูง Shinkansen E2 บริษัท Siemens และ Bombardier ของเยอรมัน และ บริษัท Alstom ของฝรั่งเศส

7. การต่อยอดเทคโนโลยีและส่งออกขายทั่วโลกทั้งด้านระบบ ด้านการผลิตตัวรถ คาน ราง และวิธีการก่อสร้างที่ทั้งรวดเร็วและมีราคาถูกกว่าประเทศอื่นๆ จีนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกตัวรถไฟ ราง ระบบการก่อสร้างและผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงรายใหญ่ที่สุดของโลก แม้แต่สหรัฐอเมริกา และอังกฤษก็ยังจ้างบริษัทจีนมาก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail- HSR)

8. การคิดค่าโดยสารถูกกว่าราคาในประเทศอื่น 4 เท่า เพื่อส่งเสริมการใช้ให้มีจำนวนมาก เพื่อจะได้คุ้มทุนในระยะยาว

9. ระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน HSR มีความยาวทั้งสิ้นในปี 2018 คือ 29,900 กิโลเมตร คิดเป็น 2/3 ของระบบรถไฟความเร็วสูงของโลกทั้งโลก และมีแผนจะขยายให้ได้ถึง 38,000 กิโลเมตรภายในปี 2025

10. ค่าก่อสร้างถูกกว่าประเทศอื่น 1/3 คือเฉลี่ยประมาณกิโลเมตรละ 17-21 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 650 ล้านบาท เมื่อเทียบกับยุโรปราคาจะอยู่ที่ $25-49 ล้านเหรียญ หรือ 800-1600 ล้านบาท และอเมริกาค่าก่อสร้างตกที่ $56 ล้านหรือ 1,680 ล้านบาท ในขณะที่ไทยสร้างเชื่อม 3 สนามบินด้วยงบ 2.2 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 4,700 ล้านบาท คือ 8 เท่า หรือ 800% แพงกว่าราคามาตรฐานของจีน

โครงการรถไฟฟ้าของไทย
1. เจ้าของโครงการคือบริษัทเอกชนที่ประมูลได้รับสัมปทาน เพื่อการค้าและหากกำไรทั้งจากการคิดค่าโดยสารราคาแพง การพัฒนาพื้นที่ การขายพื้นที่และเนื้อที่เพื่อโฆษณา

2. รัฐร่วมลงทุน และค้ำประกันความเสี่ยง

3. การยกพื้นที่ทำเลทองและข้างทางในราคาถูกให้เอกชนนำไปพัฒนาหากำไรโดยไม่ต้องแบ่งปันรายได้เข้ารัฐ เช่น ที่ดินมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ ร.5 พระราชทานมาเพื่อใช้พัฒนาการรถไฟ เช่น การตั้งโรงงานผลิตรถไฟเพื่อใช้ในประเทศ

4. ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่มีการสร้างโรงงานผลิตตัวรถและเครื่องจักร ต้องสั่งซื้อนำเข้า ทำให้ต้นทุนแพง เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินและประชาชน

5. ไม่มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน

6. ไม่มีระบบรองรับการขนส่งราคาถูก สร้างรองรับระบบเดียวสำหรับผู้โดยสาร แต่ไม่มีระบบรองรับการขนส่งสินค้า ซึ่งไม่ช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร คนทั่วไปไม่ใช้เพราะจ่ายค่าโดยสารแพงไม่ไหว ในที่สุดจะขาดทุนและกลายเป็นภาระของรัฐ