“หมวดเจี๊ยบ” แปลกใจบางคนในฝั่ง รบ.ผิดปกติมนุษย์ หลังตั้งแง่ผู้พิพากษาหาว่าจัดฉากยิงตัวเอง

หมวดเจี๊ยบ เผยน่าแปลกใจว่าเหตุใดคนฝั่งรัฐบาล ต้องปล่อยข่าวทำลายความน่าเชื่อถือท่านผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ โดยกล่าวหาว่าท่านผู้พิพากษาจัดฉากยิงตัวเองให้แค่บาดเจ็บแต่ไม่ถึงตาย ซึ่งเป็นการตั้งสมมติฐานแบบผิดปกติมนุษย์ และอยากถามฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลว่าเหตุที่ต้องออกแรง ดิสเครดิตท่านผู้พิพากษาขนาดนี้ ทำไปเพื่ออะไร ทั้งนี้ ผู้พิพากษาที่ยอมตาย แต่ไม่ยอมลงโทษผู้บริสุทธิ์ คือ ผู้พิพากษาในฝันของชาวบ้าน แต่คำถาม คือ ผู้พิพากษาในโลกความจริงกับในโลกความฝันนั้น หน้าตาเหมือนกันแค่ไหน อย่างไร

ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คนส่วนใหญ่กำลังรอฟังผลการประชุมของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต ในวันพรุ่งนี้ เกี่ยวกับกรณีการยิงตัวเองของผู้พิพากษาที่ จ.ยะลา ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่สนใจเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะแม้แต่ สำนักข่าวระดับโลก เช่น The New York Times หรือ AP ก็ให้ความสนใจเผยแพร่ข่าวผู้พิพากษาไทยยิงตัวเองคาบัลลังก์ศาลเพราะอึดอัดที่ไม่มีอิสระในการพิจารณาคดี
อย่างไรก็ตาม ตนขอเป็นกำลังใจให้ คณะกรรมการ ก.ต. ทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะพวกท่านกำลังแบกความความคาดหวังและยืนอยู่ท่ามกลางการกดดันจากทุกฝ่าย แต่ตนเชื่อว่า คณะกรรมการ ก.ต. จะสามารถรับมือและบริหารสถานการณ์เหล่านี้ได้ เพราะกรรมการ ก.ต. ทุกท่านล้วนเป็นผู้พิพากษาที่ทรงคุณวุฒิ ย่อมต้องมีประสบการณ์ในการตัดสินใจภายใต้สภาวะกดดันสูง ๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่อย่างนั้น ท่านผู้พิพากษาเหล่านี้ คงไม่ได้รับการเลือกตั้งจากผู้พิพากษาด้วยกัน ให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ ก.ต. ซึ่งแสดงถึงสัญญลักษณ์ของการปกครองตนเองและความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการจากอำนาจฝ่ายอื่น ๆ

ทั้งนี้ การที่คนจับตามองประเด็นการยิงตัวเองคาบัลลังก์ศาลของ ท่านผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ เป็นอย่างมาก ก็เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมซึ่งเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง
ซึ่งมีคนฟากรัฐบาล พยายามปล่อยข่าวโจมตีผู้พิพากษาว่าจัดฉากยิงตัวเองให้แค่บาดเจ็บแต่ไม่ถึงตาย ซึ่งเป็นการพูดโจมตีเพื่อหวังดิสเครดิตและลดความน่าเชื่อถือของผู้พิพากษา แต่เป็นการตั้งสมมติฐานแบบผิดปกติมนุษย์ และน่าสงสัยว่าฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจะลงทุนทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร

อย่างไรก็ตาม ประเด็นอยู่ที่ว่า ทำไมประชาชนจึงพร้อมจะเชื่อว่าการพิจารณาคดีอาจถูกแทรกแซงได้ ที่สำคัญ การที่คนส่วนใหญ่มองว่าผู้พิพากษาที่ยอมตาย แต่ไม่ยอมลงโทษกรณีที่พยานหลักฐานไม่เพียงพอ คือผู้พิพากษาในฝันของเขา จึงน่าตั้งคำถามต่อไปว่า ผู้พิพากษาในโลกความจริงกับในโลกความฝันนั้น หน้าตาเหมือนกันแค่ไหน อย่างไร แล้วใครควรจะเป็นผู้ที่ออกมายืนยันได้อย่างน่าเชื่อถือว่าผู้พิพากษาในโลกความเป็นจริงนั้นเหมือนหรือแตกต่างจากภาพฝันของประชาชน.