ศ.ยุติธรรมแจงปมผู้พิพากษายิงตัวเอง ยัน “ใหญ่แค่ไหน ก็สั่งศาลไม่ได้”

เมื่อวานนี้ 5 ตุลาคม 2562 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการ ก.ต.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีมีผู้พิพากษาใช้อาวุธปืน ยิงตัวเองที่ศาลจังหวัดยะลา ซึ่งมีรายงานว่าสาเหตุเกิดจากความเครียดในการพิจารณาคดี เเละมีการวิพากวิจารณ์ว่ามาจากการถูกกดดันเเทรกเเซงการพิจารณาพิพากษาคดีว่า

ขณะนี้ตนได้รับรายงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเหตุการณ์ผู้พิพากษายิงตัวในห้องพิจารณาที่ศาลจังหวัดยะลา จากนายเพิ่มศักดิ์ สายสีทอง อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค9 และ นายอนิรุธ ใจเที่ยง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา เพื่อนำไปเสนอข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ต่อคณะกรรมการตุลาการศาลหรือ ก.ต. ในวันที่ 7 ต.ค.นี้

ก่อนนี้เพียงได้รับรายงานทางโทรศัพท์ในเบื้องต้น และตนได้รายงานไปยัง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ตามลำดับแล้ว สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้เมื่อรายงานที่ประชุม ก.ต.ไปแล้ว ก็ดูว่า ก.ต.จะพิจารณาอย่างไร ซึ่งขณะนี้ตนได้เตรียมรายละเอียด เช่นคำแถลงการณ์ต่างๆของผู้พิพากษาคนดังกล่าวเพื่ออธิบายแก่ก.ต.แล้ว และต้องรับข้อมูลจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค9เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องอีกด้วย

เมื่อถามถึงเรื่องที่มีกล่าวกันว่ามีการเเทรกเเซงคดีจนเป็นสาเหตุกดดันคดี นายสราวุธ กล่าวว่า คำพิพากษาถือเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยก่อนการอ่านคำพิพากษาได้ ไม่เช่นนั้นจะรู้ผลล่วงหน้า และเป็นวิธีปฏิบัติของศาลที่จะปรึกษาหารือกันได้

ซึ่งในกระบวนการทำงานคดีที่มีโทษสูง คดีสำคัญ กฏหมายพระธรรมนูญ มาตรา 11 (1) ให้อำนาาจ อธิบดีนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ และสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้น ในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าของผู้พิพากษา

และใน มาตรา 14 ระบุไว้ด้วยว่าให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วยผู้หนึ่ง โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง รวมทั้งได้ให้อำนาจรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคไว้ด้วยเพราะปริมาณคดีมีมาก

ดังนั้นอธิบดี จึงมีสิทธิที่จะตรวจสำนวน คำพิพากษา ถ้าเเม้ไม่ได้ขึ้นไปนั่งพิจารณาคดี ก็มีข้อแนะนำได้ หากการเขียนคำพิพากษามีจุดบกพร่อง ก็แนะนำให้แก้ไขได้ ซึ่งกฏหมายให้อำนาจไว้เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน แต่อธิบดีไม่สามารถไปก้าวก่ายการตัดสินของผู้พิพากษาได้ ไม่สามารถแทรกแซงการทำงานได้ เพราะหากผู้พิพากษาไม่เห็นตามนั้น ก็สามารถยืนยันความเห็นของตนเองได้

“ซึ่งมีตัวอย่างในคดีที่ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ถูกฟ้องคดี 157 ท่านชีพ จุลมนต์ อดีตประธานศาลฏีกา ซึ่งเป็นอธิบดีศาลอาญาในขณะนั้นเคยมีความเห็นแตกต่างจากองค์คณะว่าควรลงโทษ แต่องค์คณะเห็นว่าควรยกฟ้อง อธิบดีจึงมีความเห็นว่าให้เอาไปทบทวน ทางองค์คณะ ยืนยันเหมือนเดิมว่ายกฟ้อง ท่าน ชีพ อธิบดีศาลอาญา ขณะนั้นจึงทำความเห็นแย้งไป สำหรับในภาค 9 มีคดีความมั่นคงจำนวนมาก การที่อธิบดี มีอำนาจตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งได้ จึงถือเป็นเรื่องปกติในกระบวนการทำงาน เปรียบเสมือนการตรวจให้มีความรอบคอบได้มาตรฐาน

ถ้าผู้พิพากษาที่พิจารณาสำนวนยังยืนยันคำพิพากษา ก็ต้องเป็นไปตามที่เขียนไว้อยู่เเล้ว ผมขอบอกไว้เลยในศาลใครจะมาสั่งผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในการตัดสินคดี มันสั่งไม่ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องอำนาจบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ดุลพินิจของเจ้าของสำนวนจะมีความเป็นอิสระ เรื่องนี้เป็นมานานเเล้ว เเละไม่ใช่เฉพาะเรื่องภายในเท่านั้น ในทางภายนอกไม่ว่าจะเป็นฝ่าย ตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายบริหารยิ่งสั่งเราไม่ได้” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าว

เมื่อถามว่า เหตุผู้พิพากษายิงตัวในห้องพิจารณาโดยอ้างว่ามีเหตุจากการทำคำพิพากษาจะกระทบต่อผู้พิพากษาอื่นหรือไม่ นายสราวุธกล่าวว่า ผู้พิพากษาทั่วประเทศมีขวัญกำลังใจดีไม่มีปัญหาอะไร เรื่องอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษามีกำหนดชัดเจนในกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ตนก็เป็นผู้บรรยายกฎหมายวิชาพระธรรมนูญศาลในเนติบัณฑิตยสภา ส่วนจะมีการแก้ไขกฎหมายพระธรรมนูญศาลหรือไม่ ให้รอฟังผลการประชุม ก.ต.ก่อน ตนขอย้ำว่าผู้พิพากษามีความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คือกฎหมายกำหนดระเบียบแบบในการทำงานของผู้พิพากษา เกี่ยวกับเขตอำนาจศาล การนั่งพิจารณาขององค์คณะ ขอบเขตอำนาจของตัวผู้พิพากษาคนเดียวหรือร่วมกันเป็นองค์คณะ การจ่ายสำนวน การเรียกคืนสำนวน เป็นต้น ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีนี้ น่าจะอยู่ที่ “อำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาภาค”

ในมาตรา13 ที่ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา11 ที่เป็นอำนาจของอธิบดีศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลด้วย เช่นมาตรา11(1) มีอำนาจในการทำความเห็นแย้งคำพิพากษาของเจ้าของสำนวนและ(4) อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจในการให้คำแนะนำ ผู้พิพากษาในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา