“หมอธีระวัฒน์” ยันถูกข่มขู่จริง เผยนักวิชาการโดนแบบเดียวกันหลายคน เชื่อฝีมือพวกเสียผลประโยชน์

กรณีนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฏร เปิดเผยว่า มีกรรมาธิการซึ่งเป็นนักวิชาการถูกขู่ฆ่าภายหลังทำงานต่อต้านสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งต่อมามีกระแสข่าวว่าคือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และ รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นั้น

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2561 ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเฟซบุ๊ก ซึ่งปรากฏว่ามีผู้แสดงความคิดเห็นว่า “หมออัปรีย์ ไม่รู้หรือว่าไม่มีเงาหัวแล้ว” ต่อมามีการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตนทำงาน ให้ไต่สวนและตรวจสอบว่าข้อมูลที่เผยแพร่มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์จริงหรือไม่ กระทั่งมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบ

“แต่ในส่วนของ รพ.จุฬาฯ รับทราบมาตลอดว่าเรากำลังทำอะไร เพื่อใคร จึงทำให้เรื่องเสร็จสิ้นภายในวันเดียว นอกจากนี้ ยังมีการโทรศัพท์ไปที่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาฯ พูดด้วยน้ำเสียงค่อนข้างก้าวร้าว ถามหาผม แต่เจ้าหน้าที่ประเมินว่าท่าทางจะไม่ดี จึงขอให้ปลายสายฝากข้อความไว้แทน ซึ่งเขาก็กล่าวด้วยถ้อยคำที่ไม่ดี” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า สำหรับกรณี รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิชาการ นักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) นั้น ถูกข่มขู่ในขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบินเพื่อไปร่วมประชุมเกี่ยวกับเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่กรุงเทพมหาคร โดยมีคนเดินตามและถามว่า “จะพูดอะไรอีกหรือ จะพูดเรื่องสารเคมีเหล่านี้ไม่ดีอย่างไรอีกหรือ” ทำให้ รศ.พวงรัตน์ เกิดความกังวลจนต้องเปลี่ยนเที่ยวบินหลายครั้งกว่าจะได้เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ กลุ่มคนที่ไม่พอใจยังบุกเข้าไปที่มหาวิทยาลัยนเรศวร บีบบังคับให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยขับไล่ รศ.พวงรัตน์ ออกจากสถาบัน ขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ รศ.พวงรัตน์ ได้รับทุนวิจัย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ตน และ รศ.พวงรัตน์เท่านั้นที่ถูกข่มขู่ในลักษณะนี้ แต่ยังมีนักวิชาการที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ถูกกระทำเช่นเดียวกันอีกหลายคน ซึ่งทำให้การการใช้ชีวิตต้องอยู่บนความหวาดระแวง เชื่อว่าการกระทำเหล่านี้เป็นฝีมือของกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์จากการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่เครือข่ายประชาชนและนักวิชาการพยายามเรียกร้องให้หน่วยงานทีเกี่ยวข้องยกเลิกนำมาใช้ในประเทศไทย จึงต้องทำลายความน่าเชื่อถือข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และทำให้ประชาชนสับสน

“ไม่ต้องเชื่อเราก็ได้ แต่ขอให้ดูข้อมูลการเสียชีวิต การเกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง ความเสี่ยงกับโรคต่างๆ ที่เริ่มทวีคูณขึ้นในพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น และลามไปจังหวัดต่อจังหวัด ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสปช.) ระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2562 ถึงต้นเดือนกรกฎาคม มีผู้เสียชีวิตจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 407 ราย ป่วย 3,067 ราย และย้อนหลัง 3 ปี พบว่า ปี 2559 เสียชีวิต 606 ราย ป่วย 4,876 ราย ปี 2560 เสียชีวิต 579 ราย ป่วย 4,916 ราย และปี 2561 เสียชีวิต 601 ราย ป่วย 4,736 ราย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า สำหรับเรื่องดังกล่าว ขณะนี้เหลือเวลาอีกประมาณเดือนกว่าๆ จะทราบผลจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร