“วิรไท” จี้รัฐดูแลแข่งขันทางธุรกิจให้เป็นธรรม เตือนดอกเบี้ยต่ำแค่ยืดเวลา

วันที่ 30 กันยายน 2562 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงาน “BOT Symposium 2019: พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน Competitive Thailand” ว่า กุญแจสำคัญตัวหนึ่งที่สร้างแรงจูงใจให้เราก้าวข้ามขีดจำกัดของทรัพยากร ขีดจำกัดทางเทคโนโลยี และผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ครั้งแล้วครั้งเล่า คือ “การแข่งขัน”

ซึ่งเป็นประเด็นหลักของงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปีนี้ การแข่งขันเป็นกลไกสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ การแข่งขันผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องพัฒนาความสามารถของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิม นำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมโดยรวม

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่ดีควรจะเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรม โดยผู้ว่าฯ ธปท. ชี้ว่า ในฐานะผู้กำหนดนโยบายและผู้เขียนกฎกติกาสำหรับการแข่งขัน ภาครัฐมีบทบาทสำคัญยิ่งในการส่งเสริมและออกแบบการแข่งขันที่จะทำให้ผลิตภาพและศักยภาพของประเทศพัฒนาได้ต่อเนื่อง มีอย่างน้อย 4 บทบาท ได้แก่

1) ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้างและเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาแข่งขันและเติบโตในธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายเดิมเป็นเจ้าตลาดได้ โดยภาครัฐจะต้องดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่นหรือใช้อำนาจเหนือตลาดกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ บังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดอย่างเข้มงวดและไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ นโยบายและมาตรการของภาครัฐเองควรมีความเสมอภาค ไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ

2) การช่วยเหลือของภาครัฐให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถแข่งขันได้ในโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะต้องเน้นที่การช่วยเหลือเพื่อเพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการ มีระบบจูงใจ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจ การให้เงินอุดหนุนหรือให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระผู้ประกอบการในระยะสั้น โดยไม่ได้ยึดโยงกับการพัฒนาผลิตภาพและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ อาจเป็นเพียงการยืดปัญหาออกไปในอนาคต ทำให้ผู้ประกอบการติดอยู่ในวงจรหนี้ที่สูงขึ้น ไม่ได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว

3) ท่ามกลางเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดและรูปแบบการทำธุรกิจที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว กฎระเบียบภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่น สอดรับกับสภาวะแวดล้อมและรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีต้นทุนต่อหน่วยของการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หลายอย่างสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝงที่มีอยู่มากในสังคมไทย กฎหมายที่ไม่จำเป็นควรถูกยกเลิก ข้อบังคับที่ล้าหลังควรได้รับการแก้ไขให้เท่าทันกับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน

4) การแข่งขันจะต้องไม่นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม กำไรที่เพิ่มขึ้นต้องมาจากการเพิ่มผลิตภาพ ไม่ใช่มาจากการผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคหรือมาจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเพื่อสร้างอำนาจผูกขาด นอกจากนี้ ในโลกยุคดิจิทัล การคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องรวมถึงการใช้ข้อมูลของผู้บริโภคด้วย ธุรกิจจะต้องไม่อาศัยศักยภาพในการประมวลผลข้อมูลที่สูงกว่าหาประโยชน์จากผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ภาคการเงินเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่นวัตกรรมและการแข่งขันได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจไปจากเดิมหลายด้าน นอกจากเทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุนและสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ แล้ว เทคโนโลยียังช่วยสร้างแพลตฟอร์ม เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่จากทั้งในและนอกภาคการเงินจากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจทางการเงินได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างระบบการชำระเงินพร้อมเพย์และการใช้ Thai Standard QR Code หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

แต่ที่จริงแล้วทั้งสองโครงการถูกออกแบบโดยยึดหลักการความสามารถในการทำงานข้ามระบบ (Interoperability) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการชำระเงินหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรฐานกลางและโครงสร้างพื้นฐานกลางที่เชื่อมโยงกันได้สะดวก ไม่แบ่งแยกเป็นวง ทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้นมาก เกิดนวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเป็นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

นอกจากนี้ การยกเลิกโครงสร้างค่าธรรมเนียมแบบเดิมที่แบ่งรายได้ระหว่างสถาบันการเงินต้นทางกับสถาบันการเงินปลายทางซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการแข่งขัน ได้นำไปสู่การแข่งขันกันลดค่าธรรมเนียมการบริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย การมีระบบการชำระเงินที่เปิดกว้างยังทำให้ข้อมูลการชำระเงินรายธุรกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของโลกการเงินดิจิทัล อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่มาตรฐานของผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งที่จะมีอำนาจเหนือตลาดได้ในอนาคตอีกด้วย

การแข่งขันที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประชาชนและธุรกิจขนาดย่อมได้รับความสะดวกในการชำระเงินมากขึ้นมาก สามารถโอนเงินได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ได้ง่าย ขยายโอกาสในการทำธุรกิจไปได้ทั่วประเทศและทั่วโลก สถาบันการเงินเองแม้ว่าจะสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมไปมาก ก็สามารถลดต้นทุนการบริหารเงินสดและการให้บริการผ่านสาขา และยังสามารถนำข้อมูลที่เกิดขึ้นไปบริหารความเสี่ยงและต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์แล