“ศรีสุวรรณ” ร้อง ป.ป.ช.รื้อโครงการกำจัดขยะ กทม. 1.3 หมื่นล้านส่อเอื้อประโยชน์นายทุน

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เดินทางเข้ายื่นติดตามทวงถามกับสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อ ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การคัดเลือกเอกชนให้เป็นผู้ดำเนินการกำจัดมูลฝอย ด้วยระบบเตาเผามูลฝอย ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และอ่อนนุช วงเงินโครงการละ 6,570 ล้านบาท รวม 13,140 ล้านบาท ของ กรุงเทพมหานคร (กทม.)องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่ประกาศผลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 จากการติดตามโครงการนี้ตั้งแต่ร่างบันทึกข้อตกลง หรือทีโออาร์ ที่เคยยื่นต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เข้าไปตรวจสอบแล้ว 2 ครั้ง ต่อมามีการประกาศผลการคัดเลือกผู้ดำเนินการดังกล่าว ทำให้พบข้อพิรุธ หลายประการ ที่อาจนำไปสู่การเอาผิดผู้บริหาร กทม. ที่อนุมัติและเป็นผู้ลงนามในเอกสารแจ้งผลการประมูลได้

“พบว่า 1. มูลค่าโครงการอาจเข้าข่ายสูงกว่าความเป็นจริง ราคาที่เอกชนผู้ชนะเสนอ ทั้งที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ในราคา 5,657.5 ล้านบาท และที่อ่อนนุช ราคา 5,759.7 ล้านบาท ที่ลดจากราคากลาง 800-900 ล้านบาท อาจเข้าข่ายสูงกว่าความเป็นจริง เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยราชการอื่น ที่ดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกัน นอกจากนั้น เอกชนจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าวันละประมาณ 1.39 ล้านบาทเศษ เท่ากับปีละ 507 ล้านบาท หากสัมปทานอายุ 20 ปี ผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าประมาณ 10,152 ล้านบาทต่อโครงการ รวม 2 โครงการ มีมูลค่าประมาณ 20,305 ล้านบาท หมายความว่า นอกจากกทม.ต้องจ่ายค่าจ้างกำจัดขยะให้กับเอกชน 1.14 หมื่นล้านบาทแล้ว เอกชนยังมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าอีกไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 20 ปี ชี้ให้เห็นว่าเป็นการเอื้อให้เอกชน” นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า 2. กระบวนการอาจขัด พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 เนื่องจากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายโดยกรมบัญชีกลางกำหนดหลายประการ โดยประกาศการแจ้งผลการคัดเลือกฯของ กทม.ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ที่ลงนามโดย พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการ กทม. ถึงปัจจุบัน กลับไม่มีประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคาในเวบไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ของกรมบัญชีกลาง ตามที่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 มาตรา 66 ได้กำหนดไว้ 3.เอกชนผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แห่ง มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงและโดยอ้อมเพราะมีกรรมการของบริษัทบางคนมีชื่อไขว้กันอยู่ ในบริษัททั้งสองแห่ง และมีสถานที่จดทะเบียนตั้งบริษัทอยู่ในที่ทำการเดียวกัน อาจเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์

“ ข้อ 4.เอกชนผู้ชนะการเสนอราคาที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช อาจไม่ได้มีผลงานตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ เพราะเพิ่งก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2560 และผลประกอบการขาดทุนทุกปี สำหรับในส่วนของเอกชนผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ก่อนมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคล และทุนจดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 และแจ้งเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนเป็น 755 ล้านบาท โดยมีเอกชนที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการที่ศูนย์หนองแขมถือหุ้นอยู่ด้วย และเมื่อสืบค้นผลประกอบการไม่พบว่ามีการประกอบกิจการใดๆ มีผลขาดทุนทั้งในปี 2560 และในปี 2561 จึงมีคำถามว่าเหตุใดจึงมีสิทธิ์เข้าร่วมการประกวดราคา และยังได้เป็นผู้ชนะการเสนอราคาได้ และมีข้อสังเกตว่า บริษัทแห่งนี้ เพิ่งเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 755 ล้านบาท และเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ก่อนที่ กทม.จะเปิดการประกวดราคาไม่นาน” นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า 5 .กทม.ทำประชาพิจารณ์แบบสองมาตรฐาน หรือไร้มาตรฐานหรือไม่ เนื่องจาก เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 กทม.ได้ประกาศร่างทีโออาร์โครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอย พร้อมบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะและของเสียชุมชน มูลค่า 1,423.5 ล้านบาท ผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยกำหนดระยะเวลารับฟังคำวิจารณ์ ตั้งแต่วันที่ 3 – 24 กันยายน 2562 รวม 21 วัน ต่างจากโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่หนองแขม และอ่อนนุช วงเงิน 13,140 ล้านบาท ที่ใช้เวลารับฟังข้อวิจารณ์เพียงแค่ 4 วัน เท่านั้นดังนั้นจากข้อสังเกตเหล่านี้ รวมทั้งข้อพิรุธในส่วนของทีโออาร์ ที่เคยยื่นกับ สตง.และ ป.ป.ช.ไปแล้ว จึงต้องติดตามทวงถาม ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ให้ป.ป.ช. ติดตามตรวจสอบเพื่อดำเนินการเอาผิดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายด้วย